สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จับมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาวิจัยแปรรูปกัญชง และสมุนไพรไทย สนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัย การแปรรูปกัญชงและสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์, การดูแลสุขภาพ และทางการค้า พร้อมนำเสนองานผลการศึกษาวิจัยฯ ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ททบ. 5
พลเอก รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 เปิดเผยว่า ททบ. 5 ในฐานะทีวีที่ให้บริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับภาคการเกษตร ได้เล็งเห็นว่า กัญชง มีสารสำคัญที่สามารถนำไปสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาโรคและการดูแลสุขภาพได้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ และช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีจึงจับมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พัฒนาศูนย์เรียนรู้ วิจัยและพัฒนาพืชกัญชง ขึ้น ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นำร่องทดลองปลูกกัญชงเพื่อสกัดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป
ด้าน นายแพทย์ ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ความร่วมมือเพื่อประชาสัมพันธ์ผลศึกษาวิจัยการแปรรูปกัญชงและสมุนไพรไทยในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนากัญชงที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นแนวทางการใช้พืชสมุนไพรไทยในการฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 และชูสมุนไพรไทยเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของประเทศ สร้างความเชื่อมั่น ผลักดันยาแผนไทยสู่ชุดสิทธิประโยชน์และบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อลดภาระให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกครั้งนี้เป็นการนำพืชเศรษฐกิจใหม่คือ "กัญชง" มาดำเนินธุรกิจในรูปแบบ BCG Model (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว) โดยใช้กลไกด้านการตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกตามแพลตฟอร์มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากสู่ตลาดการค้าโลก
มีรายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงของประเทศไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังจากรัฐบาลปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงในประเทศจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย 126% ต่อปี
"โครงการศึกษาวิจัยแปรรูปกัญชง และสมุนไพรไทยในครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับ พืชกัญชง ได้ รวมถึงเกษตรกรที่สนใจอยากปลูกกัญชง แล้วต้องการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปลูกที่มีประสิทธิภาพ, ผู้ที่สนใจจะนำผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อส่งออก และผู้ประกอบการที่ต้องการนำองค์ความรู้ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า และต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น" พลเอก รังษี กล่าว