เดือนพฤศจิกายนของทุกปี คณะรัฐมนตรี โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดให้เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ พบยังมีตัวเลขความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและสตรีสูงในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขในประเด็นปัญหาดังกล่าวเท่าที่ควร
ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการสำรวจวิจัยในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวซึ่งมักพบว่าผู้หญิงถูกสามีทำร้าย เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า สามีมีสิทธิในตัวภรรยา สามารถทำอะไรกับภรรยาก็ได้โดยในประเทศไทยพบมากถึงร้อยละ 70 ที่เคยโดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งครรภ์เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้หญิงอ่อนแอมากที่สุด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีแนวโน้มที่จะโดนสามีทำร้ายอยู่แล้วในทางใดทางหนึ่ง จะยิ่งถูกทำร้ายมากยิ่งขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
ซึ่งการทำร้ายอาจเป็นไปในลักษณะของการทำร้ายร่างกายหรือการทำร้ายด้วยวาจา ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาที่ไม่สุภาพพูดทำร้ายจิตใจ ดูถูกถากถาง ไปจนถึงด่าทอบุพการี รวมถึงการคุกคามทางเพศ และการทำให้อับอาย เป็นความรุนแรงในครอบครัวที่หากเกิดขึ้นจะกลายเป็น "วงจรอุบาทว์" ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับการกระทำทารุณกรรมต่อบุตร
โดยในส่วนของภรรยาพบว่าโดนสามีทำร้ายจนต้องหนีจากไป จากนั้นสามีตามไปขอคืนดี แล้วอีกไม่นานก็กลับมาทำร้ายภรรยาอีก โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าลุกขึ้นมาตอบโต้หรือแม้แต่จะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในสังคมชั้นสูงซึ่งไม่อาจเปิดเผยได้เนื่องจากเกรงจะกลายเป็นข่าวใหญ่โต นอกจากนี้ ยังพบจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับความสุขทางเพศจากสามี แต่มิได้เปิดเผย หรือขอความช่วยเหลือใดๆ เพราะเห็นเป็นเรื่องน่าอับอาย
ในการตัดวงจรความรุนแรงดังกล่าวให้ได้ตอบโจทย์มากที่สุด จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนกันอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาพบอุปสรรคว่าผู้วิจัยยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับการจัดสรรทุนวิจัย เนื่องจากหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงที่เสนอขอรับทุนนั้น ไม่ถูกจัดอยู่ในประเด็นเร่งด่วนของประเทศที่เน้นเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยด้านความรุนแรงทางเพศในสตรีทั้งในระดับชาติ และนานาชาติมาอย่างยาวนานแม้ในช่วงที่รับตำแหน่งผู้บริหารก็ยังคงทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือสตรีผู้ถูกกระทำทางเพศมาโดยตลอด ศาสตราจารย์ดร.สุภา เพ่งพิศ ได้กล่าวให้กำลังใจนักวิจัยรุ่นหลังที่ทุ่มเททำงานวิจัยด้านความรุนแรงทางเพศของสตรีว่า ขอเพียงไม่ท้อถอย และทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพียรสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทางภาครัฐ เอกชน และชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงในครอบครัว เชื่อว่าปลายทางจะพบกับแสงสว่าง ได้รับการสนับสนุนจนสามารถช่วยลดความรุนแรงของการกระทำทางเพศต่อสตรีและเด็กของไทยและโลกใบนี้ลงจนบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit