เตรียมก่อนสูงวัย สมองใส ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ช่วยได้

30 Nov 2021
ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เตรียมรับสังคมสูงวัย ให้บริการกิจกรรมหลากหลายฟื้นฟูและชะลออาการเสื่อมถอยของผู้ป่วยสมองเสื่อม วางแผนเปิดคอร์สสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแบบมืออาชีพ พร้อมเปิด "ชมรมสมองใสใจสบาย" เพื่อชักชวนคนทุกวัยเรียนรู้และดูแลสุขภาพสมองก่อนสูงวัยเพื่อชีวิตห่างไกลโรคอัลไซเมอร์โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยที่สุดของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย ยิ่งอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น โอกาสพบภาวะสมองเสื่อมก็มีมากขึ้น รองศาสตราจารย์ นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยว่า 6 ใน 10 คนของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ และประมาณการว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมราว 6 แสนคน! "โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมถอยของโรคให้เข้าสู่ระยะท้ายให้ช้าที่สุดได้ อย่างไรก็ดี การตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาเมื่อเกิดอาการแล้วอาจช้าเกินไป โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ที่ดูแลซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดภาวะเครียด ถือเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้จึงจำเป็นสำหรับทุกคน" รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวถึง
เตรียมก่อนสูงวัย สมองใส ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ช่วยได้

ข้อห่วงใยในอนาคตอันใกล้เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ ( super age society ) ในปี 2574 ที่เราจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุราว 28 % ซึ่งหมายความว่าแนวโน้มการพบผู้ป่วยสมองเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าในปัจจุบันอาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์

ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองในด้านการรู้คิด (cognition) ซึ่งมี 6 ด้าน ได้แก่ ความจำและการเรียนรู้ การใช้ภาษา สมาธิเชิงซ้อน ความสามารถในการบริหารจัดการการรับรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และการรู้คิดด้านสังคม จนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและต้องพึ่งพาผู้ดูแล บางคนอาจจะมีอาการทางจิตหรือพฤติกรรมร่วมด้วยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมโดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ

"เราอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมหลงลืม จำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ วางของผิดที่ อย่างเอาโทรศัพท์ไปใส่ตู้เย็น เอาแปรงสีฟันไปใส่ตู้กับข้าว เอาของใช้ในครัวไปไว้ในห้องน้ำ แล้วก็หาของชิ้นนั้นไม่เจอ จำนัดหมายไม่ได้ จำรายละเอียดเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่ได้ กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะต่างจากคนสูงวัยที่มีความหลงลืมทั่วไปคือ อาการหลงลืมเกิดขึ้นบ่อย ต้องใช้เวลานานในการนึกทบทวนแล้วก็ยังนึกไม่ออก เหมือนความจำเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นหรือมันหายไปเลย ในขณะที่คนทั่วไปจะหลงลืมชั่วขณะแล้วพอจะนึกออกได้ในเวลาต่อมา" รศ.นพ.สุขเจริญ อธิบายต่อไปว่า นอกจากอาการหลงลืมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องต่างๆ ได้นาน วางแผนหรือตัดสินใจใช้เหตุผลแก้ไขปัญหาไม่ได้ มีวิธีการคิดใช้เหตุผลไม่เหมาะสม มีปัญหาเรื่องมิติและทิศทาง ไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนที่เคยทำได้ เช่น การใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า เริ่มไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้หนักขึ้นเรื่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ บางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิดเปลี่ยนแปลงง่าย "บุคลิกภาพของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเปลี่ยนไปจากเดิมร่วมกับมีปัญหาทางจิตหรือพฤติกรรม เช่น มีอาการระแวง หึงหวงทั้งที่ไม่เคยเป็น พูดจาหยาบคาย วิตกกังวล หวาดกลัวไม่สมเหตุผล มีความสนใจสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่สนใจเข้าสังคม แยกตัว จากที่เคยออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ นอกบ้าน อยู่ๆ

ก็ไม่ไป เฉื่อยชาไม่ทำอะไร ไม่สนใจคนรอบข้าง"ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์โรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าผู้ที่มีอายุช่วง 65-70 ปี มีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมได้ประมาณ 1 - 2 % และมีโอกาสพบภาวะสมองเสื่อมหรือมีความชุกของโรคเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทุกๆ ช่วงอายุ 5 ปีที่เพิ่มขึ้น เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ผู้ที่มีระดับการศึกษาน้อยมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง อาจเป็นเพราะผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงมีโอกาสทำงานที่ต้องใช้สมองคิดวิเคราะห์มากกว่า ทำให้สมองถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลาภาวะหูตึง เพราะการที่ประสาทหูตึงหรือเสื่อมทำให้สมองถูกกระตุ้นลดลง การเกิดภยันตรายรุนแรงกับสมอง เช่น เกิดอุบัติเหตุทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน สลบหรือไม่รู้ตัวมีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ที่ไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้ดี ภาวะอ้วนในวัยกลางคนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเมื่อมีอายุมากขึ้น ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เกิน 21 มาตรฐานการดื่มต่อสัปดาห์ การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เก็บตัวลำพัง การไม่ได้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง"อย่างไรก็ตาม เราอาจพบโรคอัลไซเมอร์ได้ในผู้ที่อยู่ในวัย 50 ปีหรือต่ำกว่า ซึ่งพบได้ประมาณ 2- 5 % โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีประวัติพ่อแม่หรือพี่น้องสายตรงป่วยเป็นโรคนี้หลายคน เมื่อตรวจวินิจฉัยจะพบว่ามียีนส์ที่กลายพันธุ์และถ่ายทอดทางพันธุกรรมชัดเจน" รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวเสริม วินิจฉัยเร็ว เพิ่มคุณภาพชีวิตเมื่อมีอาการเริ่มต้นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ คนใกล้ชิดหรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมองของผู้ป่วย พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยใช้แบบทดสอบการรูคิด ประเมินเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น จากนั้นจึงจะเป็นการตรวจเลือดและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจเอกซเรย์ CT หรือ MRI สมอง เพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมให้ชัดเจนต่อไป"หากวินิจฉัยโรคได้เร็วเท่าไร ผู้ป่วยและคนรอบข้างก็จะได้วางแผนการใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับอาการของโรคได้ การรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่การรักษาให้หายจากโรค แต่เป็นการวางแผนการใช้ชีวิตและรักษาประคับประคองตามอาการและปัญหาที่เกิดขึ้น ชะลอภาวะสมองให้เสื่อมช้าที่สุด"

รศ.นพ.สุขเจริญ ย้ำกิจกรรมบำบัด รักษาโรคอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยาแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์มีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา การรักษาด้วยยาเป็นไปเพื่อช่วยปรับเรื่องการรู้คิด ความจำ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมบรรเทาลง สามารถทำกิจกรรมที่ใช้สมองเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้ยาทางจิตเวชเพื่อรักษาตามอาการทางจิตที่เป็นปัญหาและปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย แต่ที่สำคัญคือวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยา ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ดูแลมาตลอดหลังเปิดให้บริการมา 2 ปีกว่า "แนวทางการรักษาแบบไม่ใช้ยาจะมุ่งไปที่คนไข้กับผู้ดูแล เพราะการดูแลคนไข้สมองเสื่อมให้ได้ผลดี ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้ดูแล โดยเราจะเน้นที่กิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นสมอง การรู้คิด ปรับลดปัญหาพฤติกรรม ช่วยให้คนไข้ฝึกทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้มากขึ้น" รศ.นพ.

สุขเจริญ กล่าว "ลักษณะกิจกรรมมีความหลากหลายและให้บริการกิจกรรมกลุ่มบำบัดวันละ 3 กิจกรรม โดยกำหนดให้มีผู้ดูแลเข้าร่วมกิจกรรมด้วยเพื่อจะได้นำสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้จากกิจกรรมกลับไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้เอง คนไข้และผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำให้มาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นคอร์ส อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

คอร์สละ 3 เดือน" รศ.นพ.สุขเจริญ เสริมว่าก่อนทำกิจกรรมจะมีการตรวจประเมินอาการ ความสามารถพื้นฐานและความพร้อมของคนไข้และผู้ดูแลเพี่อเลือกกิจกรรมที่สามารถทำได้ ศูนย์จะให้บริการตั้งแต่ 9.00 น. โดยมีกิจกรรมภาคเช้า 2 กิจกรรม เวลา 09.00 - 12.00 น.และภาคบ่าย เวลา 13.00 - 14.00 น. อีก 1 กิจกรรม โดยแต่ละกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 45 นาที เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาสมองเสื่อมจะใช้เวลาจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำได้เป็นเวลาไม่นาน "ทุกเช้าจะมีการปฐมนิเทศเพื่อเป็นการเตรียมตัวในแต่ละเช้าวันใหม่กับผู้รับบริการในห้องบำบัดด้วยแสงจ้าประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจะเข้ากิจกรรมกลุ่มเพื่อกระตุ้นการรู้คิด เช่น กลุ่มกระตุ้นสมอง กลุ่มทำหัตกรรม กลุ่มหวนรำลึกความหลังโดยให้ผู้ป่วยพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความรู้สึกดีๆ กลุ่มงานศิลปะ กลุ่มทำอาหาร ร้องเพลง ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ทำสวนปลูกต้นไม้ กิจกรรมสันทนาการและการเล่นเกม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมออกกำลังกาย เช่นกลุ่มยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โยคะ และกิจกรรม ADL Training (Activities of Daily Living) ซึ่งเป็นการสอนทำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ หวีผม แต่งตัว กินข้าว เป็นต้น" นอกจากนี้ รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่าทางศูนย์ฯ ยังมีบริการการบำบัดด้วย "หุ่นยนต์แมวน้ำ" ที่มีใช้สำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในหลายประเทศทั่วโลกด้วย "มีผลงานวิจัยที่ชี้ว่าหุ่นยนต์แมวน้ำช่วยผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้านการสื่อสารได้ หุ่นยนต์มีระบบเซ็นเซอร์สัมผัส จำคำสั่งเสียง ทำให้สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนไข้ได้ เมื่อคนไข้อุ้มหุ่นยนต์

กอดและพูดคุยด้วย หุ่นยนต์ก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับคนไข้ได้ เป็นกระตุ้นให้คนไข้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น" รศ.นพ.สุขเจริญ เผยว่าผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ มีความจำและการใช้ภาษาดีขึ้น

มีอารมณ์ดีขึ้น มีปัญหาพฤติกรรมลดลง มีความสุขมากขึ้น ผลตอบรับของผู้ดูแลเองก็อยู่ในระดับที่พึงพอใจ "กิจกรรมที่ทางศูนย์เลือกมาล้วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมอง คนไข้มีความสุขมากขึ้น กิจกรรมจะถูกปรับให้ผู้รับบริการสามารถร่วมกิจกรรมได้ และรู้สึกอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไป บางคนเมื่อจบคอร์สการบำบัดไปแล้วก็ยังอยากมาทำกิจกรรมในคอร์สใหม่ต่ออีก เราพบด้วยว่ากิจกรรมเหล่านี้ชะลอการดำเนินโรคได้บ้างในระดับที่น่าพอใจ" รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวเน้น "ส่วนผู้ดูแลก็มีความเข้าใจในวิธีการดูแลคนไข้ ได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับคนไข้ผ่านการทำกิจกรรม และสิ่งสำคัญที่ได้คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่สังคมของคนไข้ แต่เกิดสังคมในกลุ่มผู้ดูแลด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล" ในอนาคต รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่าศูนย์ฯ มีโครงการที่จะทำการฝึกสมองในลักษณะรายบุคคลมากขึ้นสำหรับเคสที่มีปัญหาไม่สามารถหรือไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม นอกจากนี้ก็จะพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ใช้อุปกรณ์วีอาร์ (Virtual Reality) และนวัตกรรมอื่นๆ ร่วมกับหน่วยวิจัยด้านการรู้คิดบกพร่องและภาวะสมองเสื่อม (cognitive impairment and dementia research unit) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเปิดคอร์สอบรมแบบออนไลน์สำหรับสอนผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมแบบมืออาชีพชมรมสมองใสใจสบาย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ก่อนสาย ภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องป้องกันได้ รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวย้ำ หลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าคนเราสามารถชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย "ไม่อยากสมองเสื่อมและอยากให้สมองสดใสอยู่เสมอต้องเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย ปรับไลฟ์สไตล์ของเราให้เป็นสายสุขภาพซึ่งทำได้ง่ายๆ เริ่มจากไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ออกกำลังกายต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี รักษาโรคประจำตัวที่มี กินอาหารสายสุขภาพให้ครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพการนอนที่ดี เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในชีวิต ทำกิจกรรมยามว่าง ฝึกสมาธิ" รศ.นพ.

สุขเจริญ แนะด้วยเหตุนี้ ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อมจึงตั้ง "ชมรมสมองใส ใจสบาย" เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักรู้ เข้าใจและมีทักษะในการดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพสมองเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัย"ชมรมเปิดกว้างโดยไม่เก็บค่าสมาชิกสำหรับทุกคนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากคนวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ เริ่มจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเราต้องให้เขาเริ่มดูแลใส่ใจตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากนี้บางคนที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้าจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่สามารถรักษาและดูแลภาวะซึมเศร้าให้ดีตั้งแต่วัยกลางคนก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต เราจึงควรเร่งสร้างการตระหนักรู้ว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้ทุกคนป้องกันดูแลสมองของตัวเองตั้งแต่ในวัยที่ยังทำได้ ก่อนที่จะสายเกินไป"ชมรมสมองใสใจสบายเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 อาคาร สธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณพันว่าคน สมาชิกสามารถร่วมกิจกรรมของชมรมที่จัดขึ้นเป็นประจำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น เวิร์คช็อป เสวนาวิชาการประเด็นทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ฉายภาพยนตร์และเสวนาสาระภายหลังชมภาพยนตร์ รับฟังสื่อเสียงของชมรมสมองใสใจสบายผ่านพ็อดคาสท์หรือยูทูปของชมรม "อยากชวนให้ผู้ที่ยังไม่สูงอายุป้องกันภาวะสมองเสื่อมกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการดูแลตนเอง ดูแลสุขภาพกายและใจ เราเชื่อว่าถ้าเริ่มต้นดี ปลายทางก็จะดีไปด้วย และเมื่อทุกอย่างดี ปัญหาก็จะไม่เกิดหรือเกิดได้น้อยลง จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป ฉะนั้น มาร่วมทำกิจกรรมกับชมรมฯ ของเรากันเถอะครับ" รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวเชิญชวน ติดต่อนัดหมายศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเข้าร่วมบำบัด หรือเข้าร่วมชมรมสมองใสใจสบาย ได้ที่ อาคาร ส.ธ. ชั้น 15 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร.0-2256-40000 ต่อ 71501, 71507 หรือทางเฟสบุ๊ก "ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อ add Line ของศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อมไว้สอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม

HTML::image(