ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ AIF Group แห่ง สปป.ลาว ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมทางวิชาการ CMA-GMS Business Forum "Unlocking Business Opportunity in Laos : The GMS Rail Link" เพื่อเตรียมรับโอกาสทางธุรกิจจากการเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันชาติ สปป.ลาว วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยัง 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม สรุปเนื้อหาสำคัญจากงานได้ดังนี้
Dr. Rithikone Phoummasak ประธานกรรมการ AIF Group แห่ง สปป.ลาว องค์ปาฐกของสัมมนาได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเดินรถไฟสายใหม่นี้ ไม่เพียงเฉพาะ สปป.ลาว แต่จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทั้งจีน และทุกประเทศในอนุภูมิภาค GMS นี้ อาทิ ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟจะถูกลง 30-40% เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าในรูปแบบเดิมทางรถบรรทุกสินค้า ศักยภาพในการขยายมูลค่าการค้าถึง 3.9 ล้านตันต่อปีในปี ค.ศ. 2030 การลงทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใน GMS ไม่เพียงเฉพาะ สปป.ลาว การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์จะขยายตัวจำนวนมากตลอด 10 สถานีที่รถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งจะก่อให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้จำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางไปมาระหว่างจีน และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้นจากปีละ 2.9 ล้านคน เป็น 3.9 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030
Mr. Lattanamany Khunnyvong อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและขนส่ง สปป.ลาว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่วันแรกได้ชี้ให้เห็นถึงที่มาของโครงการว่า 96% ของงบประมาณ เป็นการลงทุนจากจีน และอีก 4% จาก สปป.ลาว รวมมูลค่าโครงการกว่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานการศึกษาความเป็นไปได้จะแสดงประมาณการอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของโครงการอยู่ที่ 3.93% แต่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงตัดสินใจเดินหน้าลงทุนต่อไปตามยุทธศาสตร์ 1) China's BRI 2) Laos' transformation of Land-Locked to Land-Link Country 3) ASEAN's Infrastructure Connectivity และก่อนเริ่มทำการก่อสร้าง รัฐบาล สปป.ลาว ได้ทำการสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านตลอดเส้นทางรถไฟ และมีการสำรวจประชามติซึ่งได้รับความเห็นชอบให้สร้างเส้นทางและสถานีสูงถึง 99% เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะส่งผลให้การคมนาคมขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศถูกลง เร็วขึ้น เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจยังประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ในแง่ความสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในมุมมองของจีน นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท Strategy613 จำกัด ได้วิเคราะห์ว่ามูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนกำลังมีอัตราการเติบโตสูง และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นทุกปี และเมื่อวิเคราะห์ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ จะพบว่า GMS เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่น่าจับตามองอย่างมาก สังเกตได้จากโรงงานจำนวนมากกำลังย้ายออกจากจีน โดยสุดท้ายบริษัทส่วนใหญ่เลือกลงทุนตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศต่าง ๆ ใน GMS และด้วยเส้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะช่วยทำให้หลายประเทศใน GMS สามารถเข้าถึงสินค้าที่หลากหลายในจีน ทั้งนี้ แม้ GMS อาจถูกมองว่าเป็น stand-alone entity แต่ก็มีเสน่ห์ดึงดูดจีน และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาทิ GMS มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน และอยู่ในโครงสร้างประชากรที่เหมาะสมด้วยประชากรวัยทำงานที่เป็นคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังถูกมองว่ามีศักยภาพที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้นี้
ด้าน รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปการสัมมนานี้ได้อย่างน่าสนใจว่า เพื่อให้การเชื่อมต่อของภูมิภาคอย่างสมบูรณ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี 3 สิ่งดังนี้ 1) Hardware connectivity โดยประเทศไทยควรส่งเสริมการใช้งานสะพานมิตรภาพหนองคายและท่านาแล้ง รวมถึงการหาแนวทางเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศที่มีความกว้างของรางไม่เท่ากัน และบูรณาการศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยที่มีทางเลือกที่หลากหลายครบวงจรทั้งการคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ 2) Software connectivity โดยการทบทวนกฎระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและขนส่งให้มีความคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และ 3) Peopleware connectivity โดยการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อเส้นทางรถไฟสายใหม่นี้เป็นโอกาสของภูมิภาคอาเซียนในการเข้าถึงตลาดใหม่ที่ใหญ่เต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และโอกาสทางธุรกิจมากมาย