ม.มหิดล สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่วงการพฤกษศาสตร์โลกจากการค้นพบพืชชนิดใหม่ในวงศ์ผักบุ้ง สกุลหนาวเดือนห้า (Erycibe Roxb.) 3 ชนิด

31 May 2021

สองปีก่อนโลกยังไม่รู้จักภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 แต่พอเมื่อมีการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วโลก จึงทำให้ทุกวันนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จักโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ดังกล่าว

ม.มหิดล สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่วงการพฤกษศาสตร์โลกจากการค้นพบพืชชนิดใหม่ในวงศ์ผักบุ้ง สกุลหนาวเดือนห้า (Erycibe Roxb.) 3 ชนิด

เช่นเดียวกับนานาสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ที่ยังรอคอยการค้นพบ รวมถึงพืชที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติซึ่งรอการค้นพบว่ามีประโยชน์ หรือโทษอย่างไร โดยงานอนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy) คือพื้นฐานสำคัญสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่วงการพฤกษศาสตร์โลก จากการค้นพบพืชชนิดใหม่ในวงศ์ผักบุ้ง สกุลหนาวเดือนห้า (Erycibe Roxb.) จำนวน 3 ชนิด จากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดย นายพงศกร โกฉัยพัฒน์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบขณะศึกษาวิจัยพืชสกุลนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับ Dr.Timothy M.A. Utteridge ผู้เชี่ยวชาญจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens) หรือ "สวนคิว" (Kew Gardens) แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับโลก โดยพืชชนิดใหม่ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ใน "Phytotaxa" ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นวารสารทางด้านพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

นายพงศกร โกฉัยพัฒน์ เล่าว่า ในระหว่างที่ตนได้ทำการศึกษาตัวอย่างพันธุ์ไม้สกุลหนาวเดือนห้าจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ด้วยทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ผักบุ้ง และ Dr.Timothy M.A. Utteridge ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมนั้น ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ในวงศ์ผักบุ้ง สกุลหนาวเดือนห้า (Erycibe Roxb.) 3 ชนิด ได้แก่ 1. E. brunneopilosa Kochaiph. & Utteridge 2. E. sangiheensis Kochaiph. & Utteridge และ 3. E. trichocorpa Kochaiph. & Utteridge ซึ่งถึงแม้ว่าพืชทั้งสามชนิดจะไม่ได้ค้นพบในประเทศไทย แต่ก็มีประโยชน์ต่อโลกได้ เนื่องจากเป็นทรัพยากรของโลก

ซึ่งพืชที่ค้นพบใหม่ทั้ง 3 ชนิดนี้ จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง แต่มีโครงสร้างของดอกแตกต่างจากผักบุ้งปกติ กล่าวคือ ดอกของผักบุ้งโดยทั่วไปจะเป็นทรงกรวยปากแตรกว้าง แต่พืชทั้ง 3 ชนิดนี้ มีลักษณะกลีบดอกเวียนเหมือนกงจักร 5 แฉก ซึ่งจากการค้นพบดังกล่าวจะได้มีการศึกษาต่อยอดหาสารที่มีคุณสมบัติใช้เป็นยารักษาโรคเพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม กล่าวเพิ่มเติมว่า พืชชนิดใหม่ในวงศ์ผักบุ้ง สกุลหนาวเดือนห้าทั้ง 3 ชนิด ที่ นายพงศกร โกฉัยพัฒน์ ได้ร่วมค้นพบเป็นครั้งแรกกับ Dr.Timothy M.A. Utteridge นั้น มีลักษณะดอกคล้าย "ต้นพลิ้ว" ซึ่งเป็นไม้เถาสกุลหนาวเดือนห้าอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ตามริมลำธารของน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี อันเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ซึ่งพืชในสกุลหนาวเดือนห้าทั่วโลกมีประมาณ 70 ชนิด พบในประเทศไทยประมาณ 10 ชนิด สำหรับเรื่องคุณสมบัติทางยา เคยมีรายงานวิจัยว่าพืชสกุลหนาวเดือนห้าบางชนิดสามารถรักษาโรครูมาตอยด์ หรืออาการปวดข้อได้ และขณะนี้นักศึกษาปริญญาโทในภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังศึกษาหาสารสำคัญที่อาจใช้เป็นประโยชน์ทางยาในพืชสกุลนี้อยู่

รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม ได้ให้ข้อมูลอีกว่า หลักการระบุชนิดของพืชโดยทั่วไป จะใช้โครงสร้างของดอกเป็นหลัก แต่เนื่องจากดอกของพืชสกุลนี้ไม่ได้ออกทุกปี จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาในส่วนอื่นของพืช เช่น ใบ และลำต้นอย่างละเอียด เพื่อใช้ประกอบในการระบุชนิดพืชในกรณีที่ไม่พบดอก เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวการนำส่วนของต้นพืชสกุลหนาวเดือนห้าชนิดหนึ่ง มาใช้ต้มดื่มเพื่อประโยชน์ทางยา แต่กลับพบว่าเป็นพิษจนถึงแก่ชีวิต อาจเป็นไปได้ว่านำพืชผิดชนิดมาบริโภค เพราะพืชในสกุลหนาวเดือนหน้านั้นมีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และโทษ "อนุกรมวิธานพืช" จึงเปรียบเหมือนรากฐานสำคัญต่อการศึกษาในทุกๆ สาขาทางด้านพืช เนื่องจากการระบุชนิดพืชอย่างถูกต้องนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะนำพืชนั้นๆ ไปศึกษาต่อยอดในด้านอื่นๆ เพื่อที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากพืชได้อย่างเต็มที่และยั่งยืนต่อไป

ยังมีพืชอีกมากบนโลกใบนี้ที่รอการค้นพบเพื่อศึกษาประโยชน์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อทุกการค้นพบของพืชชนิดใหม่ได้เป็นที่ประจักษ์และยังประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไป ติดต่อทาง inbox ได้ที่ Facebook: Plant Science @ Mahidol University

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit