๑๐๐ ปีชาตกาล คุณรัญจวน อินทรกำแหง แม่ครูแห่งธรรมมาตา มีธรรมเป็นแม่ มีแม่เป็นธรรม

27 May 2021

ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพขอย้อนรอยเส้นทางชีวิตอาจารย์รัญจวน จนถึงแก่นธรรมที่ท่านนำมาวางหลักสูตร "ธรรมมาตา" ซึ่งพวกเราเชื่อว่า บางอย่างอาจตอบโจทย์ชีวิตของผู้อ่านขณะนี้ได้

๑๐๐ ปีชาตกาล คุณรัญจวน อินทรกำแหง แม่ครูแห่งธรรมมาตา มีธรรมเป็นแม่ มีแม่เป็นธรรม

I กว่าจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์แม่ก็ตายเสียแล้ว #พุทธทาสภิกขุ #ดำริโครงการธรรมมาตา

-อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวทำอะไรได้อย่างนี้... ก็เพราะแม่ทั้งนั้น แม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ 

-กว่าจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์ แม่ก็ตายเสียแล้ว

-อยากตอบแทนเพศแม่ด้วยการสร้างสถานที่ให้สตรีฝึกปฏิบัติจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเหมือนผู้ชาย

-เพราะถ้าสตรีมีธรรมะก็จะอบรมลูกให้เป็นยุวชนที่ดี สันติภาพก็จะเกิดในโลก

II ชีวิตกลายเป็นของหนัก #รัญจวนอินทรกำแหง #สู่ทางธรรม

-เคยรับราชการ เป็นครู เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ประธานศูนย์ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ฯลฯ ชีวิตเหมือนประสบความสำเร็จ แต่วิถีปุถุชนย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์

-ทั้งๆ ที่มิได้อดมื้อกินมื้อ งานการก็พอมีพอทำ ชื่อเสียงความสำเร็จก็พอมีพอได้ แต่เพราะไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ ชีวิตก็กลายเป็นของหนัก เพราะไม่อาจสนอง "ใจที่อยาก" ให้หนำได้

-หากปล่อยชีวิตตกจมอยู่ในความทุกข์ ดูจะไม่คุ้มกับที่ได้เกิดมา จึงตัดสินใจหันชีวิตเข้าสู่หนทางธรรม

III ปฏิบัติให้มาก รู้ธรรมชาติของจิตที่หลุกหลิก เจ้าเล่ห์ ให้จงได้ #หนองป่าพง #ครูอาจารย์สำคัญที่สุด

-เริ่มไปปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ชา สุภัทโท

-หลวงพ่อท่านไม่พูดมาก ไม่สอนมาก แต่กระตุ้นส่งเสริมแนะนำให้ปฏิบัติให้มาก

-ปฏิบัติที่จิต ดูจิต ข่มขี่จิต อย่าตามใจความดิ้นรนทะยานอยากของมัน ดูให้รู้จักธรรมชาติสันดานของจิตที่หลุกหลิก เจ้าเล่ห์ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้ให้จงได้

-พอเริ่มจะรู้หนทางดำเนินในทางธรรม ในสิ้นพรรษานั้นเอง หลวงพ่อก็อาพาธ สอนไม่ได้ อบรมไม่ได้

-ดูเถิด! เพียงเริ่มต้นเท่านั้น อนิจจังก็แสดงธรรมชาติของมันให้เห็นชัดประจักษ์ใจ จากนี้จะไปไหน จะทำอย่างไร เพราะการแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิงนั้นมิใช่ง่าย

-มิตรอาวุโสท่านหนึ่งถามกึ่งแนะนำว่า "ทำไมไม่ลองไปอยู่สวนโมกข์?"

IV  อ่านมามากพอแล้ว เดี๋ยวนี้ให้อ่านแต่หนังสือเล่มใน #สวนโมกข์ #ลองไปดูให้ประจักษ์ด้วยใจตนเอง

-เมื่อไปถึงสวนโมกข์ตอนเช้าตรู่ (ปลายเดือนกันยายน 2525) เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่ม้าหินหน้ากุฏิท่าน จำได้ว่า กราบนมัสการท่านแล้วก็พูดเล่าอะไรต่างๆ ที่เป็นความรู้สึกอยู่ในใจขณะนั้น สิ่งที่พูดที่เล่าดูล้วนแต่แสดงความดี ความเสียสละของตัวเองที่หันชีวิตเข้าสู่ทางธรรม แล้วยังแสดงความอวดรู้ในทางธรรมอีกไม่น้อย

ท่านอาจารย์นั่งฟังด้วยความปกติ ไม่แสดงอาการว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ... เมื่อท่านปล่อยให้พูดจนสมใจอยากแล้ว ท่านก็บอกให้ไปพักผ่อนเสียก่อนแล้วจึงไปหาท่านอีก

-ตอนเย็นไปกราบนมัสการท่านเพื่อกราบเรียนถามวิธีการปฏิบัติ เวลาไปก็มีรายชื่อหนังสือแผ่นยาวติดไปด้วย ... ก็เริ่มต้นด้วยการอ่านรายชื่อหนังสือให้ท่านฟัง ... แล้วจบด้วยคำถามว่า ท่านอาจารย์โปรดแนะนำให้อ่านอะไรก่อนหลัง เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจธรรมะไปตามลำดับจากเบื้องต้นไปเบื้องปลาย และสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่จิตได้

คำตอบของท่านอาจารย์คือ "ไม่ต้องอ่านสักเล่มเดียว! หยุดอ่านได้ เพราะอ่านมามากพอแล้ว เดี๋ยวนี้ให้อ่านแต่หนังสือเล่มใน"

-ท่านพุทธทาสย้ำชัดว่า "ในบรรดาความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็น 'ตัวฉัน' นี่แหละคือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง"

ถ้าสลัดความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันออกไปเสียได้ ความทุกข์ทั้งปวงย่อมสลายไปสิ้น เพราะมันไม่มี "ตัวฉัน" ที่จะเป็นทุกข์อีกต่อไป จะมีอยู่ก็แต่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ... ใช่ไหม? "ใช่ ... ใช่แน่แล้ว"

V  #ปฏิบัติที่กายวาจาใจ  ธรรมะมีหน้าที่เพียงแสดงสัจจะให้มนุษย์ได้ดูได้เห็น #จากนักทฤษฎีสู่การปฏิบัติธรรม

-หลังจากปฏิบัติตามแนวที่อาจารย์พุทธทาสให้ไว้ อาจารย์รัญจวนได้บันทึกเพื่อเตือนใจผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นหลังๆ ว่า

-ผู้ปฏิบัติธรรมที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติจนเกินขนาดของความพอดีนั้น ย่อมเกิดความเคร่งเครียดได้ง่ายๆ

-เมื่อเคร่งเครียดมากขึ้นๆ แล้วควบคุมไม่ได้ จิตนั้นจะมีความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ด้วยผิดหวังที่การปฏิบัติไม่เป็นผลตามที่ตั้งใจไว้

-ธรรมะก็คือธรรมะ มันทรงตัวอยู่ตามปกติอยู่เช่นนั้นเอง ผู้ปฏิบัติเองต่างหากหรือมิใช่ ที่ไปเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องผลของการปฏิบัติจากธรรมะด้วยประการต่างๆ

-ธรรมะมีหน้าที่เพียงแสดงสัจจะให้มนุษย์ได้ดูได้เห็นเท่านั้น

-หากผู้ปฏิบัติหวังผลอย่างใดก็ต้องลงมือกระทำ ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วผลหรือประโยชน์นั้นก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำ

VI #เผยแผ่ธรรมะ  Outstanding Woman in Buddhism#จิตวิญญาณของความเป็นครู

-บนเส้นทางของนักปฏิบัติฯ อาจารย์ไม่ได้มุ่งให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทุกข์เพียงลำพัง และด้วยจิตวิญญาณของความเป็น "ครู" จึงพยายามจุดประกายธรรมสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบรรยาย เขียนบทความและหนังสือ เพื่อบันทึกประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและหลักธรรมต่างๆ ให้เป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมเดินบนเส้นทางสายนี้ จนได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยรางวัลสำคัญคือ "Outstanding Woman in Buddhism" เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติปี 2548

VII   #ธรรมมาตา

ใช่ว่าบุรุษจะเป็นบัณฑิตไปเสียทุกที่ทุกแห่งก็หาไม่, แม้สตรี เมื่อใช้วิจักขญาณอยู่ในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้

#วางหลักสูตรโครงการอาศรมธรรมมาตา

-โครงการธรรมาศรมธรรมมาตา เป็นความดำริของท่านพุทธทาสภิกขุ มุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่บุคคล แก่ศาสนา แก่โลก&มนุษยชาติ

-เพื่อให้เพศแม่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุดในลักษณะของธรรมทูตหญิง เป็นการเสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่

-พุทธทาสปรารภเรื่องการจัดการอบรมว่า "เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า"

-อาจารย์รัญจวนได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการสวนโมกข์พลารามให้วางหลักสูตรโครงการธรรมาศรมธรรมมาตา

-มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพศหญิงได้มีโอกาศศึกษาและปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด โดยจัดให้อยู่ในระดับ ปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด ส่วนที่จะไปได้เพียงใด ขึ้นกับความพากเพียรอุตสาหะ เสียสละของแต่ละคน

-ในการวางหลักสูตร อาจารย์รัญจวนได้ขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์หลายสาย และเชิญแพทย์หญิงเสริมทรัพย์ร่วมกับคณะทำงานวางหลักสูตรโครงการ อันประกอบด้วย วัตถุประสงค์ ธรรมวินัย หลักการตัดสินธรรมวินัย กิจวัตร หลักสูตรการอบรม คุณสมบัติสมาชิก หลักเกณฑ์การคัดเลือก นโยบายการดำเนินงาน ไว้ครบถ้วน

-และนี่คือหลักสูตรธรรมมาตาที่อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ฝากไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้สานต่อ เพื่อสร้าง "มารดาแห่งธรรม" และ "ธรรมทูต" ที่ถึงพร้อมด้วยปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด

๑๐๐ ปีชาตกาล คุณรัญจวน อินทรกำแหง แม่ครูแห่งธรรมมาตา มีธรรมเป็นแม่ มีแม่เป็นธรรม
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit