องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก และปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า "COMMIT TO QUIT" สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดประเด็นเน้นย้ำสื่อสารไปยังประชาชน ภายใต้คำขวัญ "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้" ห่างไกลโควิด 19
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบของเขตสุขภาพที่ 12 ว่า ผลจากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างในเขตสุขภาพที่ 12 ปี 2562 จำนวนทั้งหมด 3,665,614 ราย พบว่า มีผู้บริโภคยาสูบ จำนวนทั้งสิ้น 875,952 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.90 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับประเทศ ที่มีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 19.10 และมีค่าเป้าหมายในการบริโภคยาสูบในระดับประเทศ ไม่เกินร้อยละ 17.00 พบว่า ประชากรในเขตสุขภาพที่ 12 มีอัตราของการบริโภคยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าค่าเป้าหมายของประเทศ เมื่อจำแนกอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบรายจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 พบว่า จังหวัดสตูล สงขลา พัทลุง และตรัง มีอัตราของการบริโภคยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับเขต ที่ร้อยละ 26.90, 25.30, 24.30 และ 24.20 ตามลำดับ และจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีอัตราการบริโภคยาสูบต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับเขต อยู่ที่ร้อยละ 23.40, 21.90 และ 20.30 ตามลำดับ
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง อันเป็นภัยสุขภาพที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว จำนวนไม่น้อย และด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ยังพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด 19 มากกว่าคนปกติทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ และมีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 มีประวัติการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักมีสุขภาพปอดไม่แข็งแรง ทำให้มีอาการรุนแรง และเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย
และนอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสติดโควิด 19 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5 เท่า กรณีผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ มวน และบุหรี่ไฟฟ้า จะมีแนวโน้มติดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 6.8 เท่า มากไปกว่านั้นคือผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมี อาการป่วยรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลย ถึง 5 เท่า (ข้อมูลโดย ศบค. ณ วันที่ 26 เมษายน 2564)
เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 วันงดสูบบุหรี่โลก 2564 สคร.12 สงขลา จึงร่วมรณรงค์ตามประเด็นสาร "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้" เพื่อส่งเสริมให้เลิกสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท และการเลิกบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคโควิด 19 เน้นย้ำการปฏิบัติบนแถวชีวิตวิถีใหม่ เพื่อช่วยกันยกระดับ สู้โควิด 19
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถโทรศัพท์ได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ฟรีทุกเครือข่ายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit