พวกเราขอนำ "แสงแห่งปัญญา" ของท่านอาจารย์พุทธทาส[1] ที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งให้ท่านที่สนใจได้ทดลองนำไปประยุกต์ใช้แสงแรก: ปลดพันธการทางใจจากยึดถือทรัพย์ท่านเล่าว่า เมื่อพูดถึงสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติ ... ในชั้นแรกของการอยู่ที่นี่ ฉันมีทรัพย์สมบัติแต่เพียงบาตร ๑ ใบ มีฝาทองเหลืองชนิดตักน้ำฉันได้ กับถังตักน้ำเล็กๆ จากบ่อน้ำใบหนึ่ง และจีวรเท่าที่จำเป็นจะต้องมีเท่านั้น กับมีตะเกียงน้ำมันมะพร้าว ... จุดที่หน้าพระพุทธรูปประจำ จะไปไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องปิดประตู ... ไม่มีอะไรที่จะต้องดูแลรักษา ... มีแต่ความเบาสบายที่ยากจะบอกครั้นต่อมา มีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น เมื่อคิดออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ทำให้ต้องมีกระดาษ ดินสอ และหนังสือบางเล่ม จะไปไหนต้องเก็บ ต้องปิดหีบ ปิดประตู กลับมายังเรียบร้อยอยู่ก็เบาใจมีคราวหนึ่ง ไปธุระค้างคืน กลับมาทันขณะที่ปลวกขึ้นมาถึงกองหนังสือพอดี ... ถ้าปลวกกัดกินทำให้ของเขาขาดชำรุดไป จะเป็นเรื่องยุ่งไม่น้อย และสมน้ำหน้าที่อุตริเป็นพระบ้าน ในเมื่อตนมีความเป็นอยู่อย่างพระป่า เหล่านี้คือเรื่องที่ความคิดสองฝ่ายกระทบกันบ่อย จนบางครั้งจะเลิกล้มความคิดที่จะทำการเกี่ยวกับหนังสืออีกต่อไปในที่สุดความคิดทั้งสองฝ่ายก็รู้จักประนีประนอมกันได้เอง ... สิ่งนั้นเกิดมาจากการเสียสละและไม่ยึดถือ การไม่ยึดถือนั้น นอกจากจะเกิดมาจากการไม่มีอะไรจะยึดถือแล้ว ยังเกิดมาจากการที่เราไม่ยึดถืออีกส่วนหนึ่งด้วย แม้จะมีอะไรเป็นสมบัติของตนอยู่ก็ตาม ... โดยตนไม่ต้องยึดถือไว้เป็นเครื่องหนักใจ จะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าลองดูจะทำกันอย่างไรนั้น เป็นปัญหาที่ต้องพยายามแก้ และฉันขอตอบด้วยการกล้ารับรองในที่นี้ว่า ไม่มีทางอื่นใดดีไปกว่าการหลีกออกไปบำเพ็ญชีวิตสันโดษ ไร้ทรัพย์สมบัติโดยประการทั้งปวงเสียสักคราวหนึ่งก่อน ซึ่งในที่สุดจะพบคำตอบพร้อมทั้งได้สมรรถภาพแห่งจิต ชนิดที่จะปฏิบัติงานอันแสนยากนั้นได้ดีจริงๆ เพราะว่า ความรู้ที่ได้มาจากการเคยผ่านมาทางจิตใจของตนเอง กับความรู้ที่คาดคะเนเอาตามหลักเกณฑ์ในตำรานั้น ยังไกลกันอยู่ไม่น้อยแสงต่อมา: เมื่อก้าวผิดไปก็ตั้งต้นใหม่กับเป้าหมายที่มุ่งทำประโยชน์ ความท้อถอยย่อมไม่มีในช่วงที่ท่านเข้ามาเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพ ท่านเขียนจดหมายถึงคุณธรรมทาสว่า เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่า กรุงเทพฯ มิใช่เป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ เราถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่า เป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้พบเงื่อนว่า ทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย ... และตั้งใจจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวนทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ... เป็นการฟื้นความจำและได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อว่า การค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้วท่านจึงกลับมาบ้านเกิดและจำวัดอยู่ที่วัดร้างตระพังจิกรูปเดียวโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เหมือนที่เล่าไว้ใน "แสงแรก" ข้างต้น มิหนำซ้ำยังมีคนว่า ท่านเป็น "พระบ้า" เมื่อเวลาผ่านไปมีคนถามท่านว่า ในช่วงนั้น เคยรู้สึกหมดหวัง ท้อถอยหรือไม่ไอ้เรื่องหมดหวังหรือท้อถอยนี่มันไม่มี และสิ่งที่ทำอยู่ มันก็กำลังมีผลอย่างนั้นอย่างนี้บ้างอยู่เรื่อยๆ มันมีความคิดว่า จะเป็นผู้เปิดเผยสิ่งที่คนส่วนมากยังไม่รู้ เราจึงสามารถค้นของใหม่ออกมาสู่ประชาชนอยู่เสมอ ... ทำให้มีของใหม่ขึ้นในโลก ในสังคม บางอย่างเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่คนอื่นเขาไม่สังเกตก็มี เมื่อรวมๆ กันเข้า มันเกิดประโยชน์ มันก็มีกำลังใจ ยังเป็นปุถุชนก็ต้องการกำลังใจ คนที่ได้รับประโยชน์จากหนังสือ จากงานของเรา มันมีอยู่เห็นอยู่ มันก็มีกำลังใจแสงสุดท้าย: ทุนที่จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จเรื่องสุดท้ายที่ฉันจะเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังก็คือ เรื่องทุน (สร้างสวนโมกข์พลาราม)ทุนอันแรกก็คือ เงินและแรง ... นับตั้งแต่แรกเริ่มมา เมื่อพิจารณาดูแล้ว ... การจัดสถานที่แบบนี้ ไม่เป็นการหมดเปลืองมากมายอย่างใดเลย เมื่อคำนึงถึงผลแล้ว รู้สึกว่า ได้ผลเกินค่า ... จะทำอะไรก็ทำให้มีเหตุผลที่สุด ทำให้ประหยัดที่สุด คุ้มค่าที่สุด อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ ที่จำเป็นต้องจ้างจึงจ้าง ที่จะเป็นต้องซื้อจึงซื้อท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวทำอะไรได้อย่างนี้ ... ก็เพราะแม่ทั้งนั้น เพราะแม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ ... สอนให้ประหยัด ... ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ต้องประหยัด ประหยัดจนถี่ยิบไปหมด ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ ... ประหยัดแม้กระทั่งเวลา ขึ้นชื่อว่าเวลาต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ทุนอันที่สองคือ กำลังน้ำใจ ... ทุนอันนี้สำคัญยิ่งไปกว่าเงินหรือแรง เพราะถ้าไม่มีกำลังใจ มุ่งหวังอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแรงกล้า และได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหาย และเหตุการณ์บางอย่างอยู่เสมอแล้ว ก็ชวนให้เบื่อหน่ายทุนอันที่สาม ได้แก่ ผู้กล้ารับภาระจัดการเป็นตัวยืนโรง ถ้าไม่มีใครทำหรือใครช่วย ก็ยินดีที่จะทำไปคนเดียวเรื่อยๆ ไม่ยอมเลิกล้ม ได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญในข้อที่ว่า คนที่คอยให้ทุนหรือกำลังใจนั้น มิใช่ได้มาทำด้วยได้ต่อเมื่อทุนมีครบพร้อมทั้งสามประการดังกล่าวมา กิจการก็ก่อรูปและดำเนินไปได้และนอกจากทุนข้างต้นแล้ว ต้องรู้จัก "รอ"ท่านเล่าว่า ตอนไปดูแลการทำไม้ในป่า เดินผ่านที่แปลงนี้บ่อยๆ (ที่ดินสร้างสวนโมกข์) ... มีคนบอกว่า เขาเคยบอกขาย ๓๕ บาท ไม่มีคนซื้อ ผมก็เลยสนใจ ... ก็เลยพยายามติดตามติดต่อเพื่อพบเจ้าของ ก็ได้นัดพบกันที่ตลาดคนที่ติดต่อบอกว่า โอ ท่านจะซื้อ ท่านมีทางจะบอกบุญได้มาก ผมเอา ๓,๐๐๐ บาทท่านเล่าต่อว่า เราก็เฉยเสีย ต่อมาแกคงเกิดความลำบากทางการเงิน ถูกความต้องการเงินบีบคั้นเข้าๆ ก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนผลสุดท้าย ตกลงกันราคา ๔๕๐ บาท วัดได้ ๙๐ ไร่ ไร่ละ ๕ บาทสุดท้ายนี้ พวกเราหวังว่า เมื่อท่านได้ลองอยู่อย่างสันโดษไร้ทรัพย์สมบัติสักระยะหนึ่ง จะทำให้ท่านคลายความเครียดกังวลกับปัญหารายได้และหนี้สินลงบ้าง และสำหรับคนที่ยังหางานทำไม่ได้ การลองหาสิ่งที่เป็นประโยชน์รอบตัวทำเพื่อให้ชีวิตในแต่ละวันผ่านไปอย่างมีความหมาย ก็อาจทำให้ท่านได้พบคุณค่าใหม่ของชีวิตก็ได้ นอกจากนี้ หากใครอยากเริ่มต้นกิจการใหม่จะลองนำข้อคิดในเรื่องทุนของท่านอาจารย์ไปใช้ก็น่าจะช่วยให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืนได้และนี่คือ แสงแห่งปัญญาบางส่วนของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ทำให้เกิดความสว่างในใจของทุกคนที่ร่วมเดินบนเส้นทางแห่งปัญญาของท่านด้วย ซึ่งท่านบันทึกไว้ว่า "พวกเรากำลังได้รับความพอใจในงานที่ทำ มีความกล้าหาญรื่นเริง เป็นสุขสบายดีอยู่ทั่วกันทุกคน และตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราเรื่อยๆ ไป ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างใด" และทีมงานเราหวังว่า ความสว่างในใจเช่นนี้ จะเกิดขึ้นในผู้ที่กำลังดิ้นรนออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญาท่านเช่นกันรวบรวบจาก "สิบปีในสวนโมกข์" และ "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาสภิกขุสามารถ ติดตาเรื่องราว และ ข้อธรรมอื่น ๆ ได้ที่ Facebook : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit