นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญของประเทศไทย จากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโคนม พบว่า แหล่งผลิตโคนมที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นศักยภาพดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่ระบบมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสม (GAP) โดยการเพิ่มมูลค่าน้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ "นมคุณภาพสูงล้านนา" โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการผลิตที่สูงกว่าเกณฑ์ทั่วไปเพื่อยกระดับการพัฒนาตลอดโซ่อุปทานการผลิต เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตน้ำนมดิบในพื้นที่ภาคเหนือไตรมาสที่1/2564 (เดือนมกราคม - เมษายน) มีปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 3,580 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประเทศ และมีจำนวนโคนมรีด 31,886 ตัว คิดเป็นร้อยละ 32 ของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 พบว่า ในเขตภาคเหนือตอนบน มีการเลี้ยงโคนมรีดใน 6 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา) มีสหกรณ์โคนม 19 สหกรณ์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 35 แห่ง โรงงานแปรรูปนมและผลิตภัณฑ์ 5 แห่ง ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา มีฟาร์มเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 291 ฟาร์ม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบผ่านการรับรอง 3 แห่ง โรงงานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรอง 4 แห่ง และสถานที่จำหน่ายผ่านการรับรอง 10 แห่ง
จากการลงพื้นที่ของสศท.1 เพื่อศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดนมคุณภาพสูงล้านนาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้ง 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง) พบว่า ปี 2563 มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 291 ฟาร์ม มีจำนวนโคนมรีด ที่ผ่านการรับรอง 5,530 ตัว เกษตรกรนิยมเลี้ยงสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Friesian) ซึ่งเป็นโคนมพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ได้คัดเลือกให้เป็นพันธุ์หลักในการปรับปรุงพันธุ์โคนมของประเทศ ให้ผลผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ย 17 กิโลกรัม/ตัว/วัน ผลผลิตน้ำนมดิบรวมเฉลี่ย 109 ตัน/วัน มีระยะเวลารีดนม 2 ครั้ง/วัน ซึ่งเกษตรกรจะรีดนมโคช่วงเช้า 1 ครั้ง และช่วงบ่าย 1 ครั้ง ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย ช่วงวันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 18.58 บาท/กิโลกรัม ด้านกระบวนการผลิต หลังจากเกษตรกรรีดนมโคเสร็จแล้วจะนำน้ำนมดิบที่รีดได้ส่งจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทันที โดยศูนย์รวบรวมจะทำการเก็บรักษาน้ำนมดิบในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมดิบ และส่งเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำนมและแปรรูปต่อไป
ในส่วนของผลผลิตน้ำนมดิบคุณภาพสูงล้านนาของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 94 ส่งไปที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ผลิตน้ำนมดิบคุณภาพสูง เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานสำหรับผลิตนมทั่วไป และโรงงานแปรรูปนมคุณภาพสูงล้านนาเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ นมสด UHT นมสดพาสเจอไรส์ โยเกิร์ต ไอศกรีม แล้วส่งจำหน่ายตามสถานที่ได้รับมาตรฐาน ได้แก่ ตลาด Modern trade โรงแรม หรือใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับเครื่องดื่มจำหน่ายหน้าร้านโดยตรง รวมไปถึงจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook และ Lazada เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 6 ส่งไปที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการยังคงพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานนมคุณภาพสูงล้านนา โดยมีแนวทางดำเนินงาน ฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาและปรับปรุงฟาร์มให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (GAP) หรือมาตรฐานฟาร์มผลิตนมดิบคุณภาพสูงล้านนา การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นมขั้นพื้นฐานสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขั้นอุตสาหกรรม การขยายตลาดโดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ในยุค New Normal ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชน หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมคุณภาพสูงล้านนา ที่มีทั้งรสชาติดี กลมกล่อมพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง เพื่อสนับสนุนรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดนมคุณภาพสูงล้านนา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายวุฒิชัย คำดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ผู้ประสานงานโครงการนมคุณภาพสูงล้านนา หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร.0 5312 1318 อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit