กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำ วทน.แก้ปัญหาลานตากข้าวเปลือกไม่เพียงพอ / เพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแพร่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยพัฒนาต่อยอด "เครื่องลดความชื้นข้าวกล้องงอกต้นแบบ" ที่มีประสิทธิภาพลดความชื้นข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยว จากความชื้นเริ่มต้น 23% ให้ลดลงเหลือ 14% โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง พร้อมใช้แก๊ส LPG ขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม เป็นเชื้อเพลิง สามารถลดความชื้นข้าวเปลือกได้สูงสุด 2 ตัน/วัน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกชาวนาจะเก็บเกี่ยวพร้อมๆ กัน ส่งผลให้เกิดปัญหาไม่มีพื้นที่ตากข้าว ถึงแม้หน่วยงานราชการจะเข้ามาช่วยเหลือโดยการจัดหาพื้นที่ลานตากข้าวให้กับชาวนา เช่น ลานวัด โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการ เป็นต้น ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนา ทำให้ชาวนาบางรายต้องนำข้าวเปลือกมาตากเพื่อลดความชื้นบนถนนทางหลวง บางครั้งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ซึ่งเป็นคดีความให้เห็นอยู่เป็นประจำทุกๆ ปี ด้วยตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหานี้ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่วิจัยและพัฒนาสำเร็จ คือ เครื่องลดความชื้นข้าวกล้องงอกต้นแบบ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูง (Organic premium set) ได้แก่ ข้าวกล้องอินทรีย์หอมมะลิ ข้าวกล้องอินทรีย์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องอินทรีย์หอม 3 สี และข้าวกล้องงอก เป็นต้น โดยทำการตลาดภายใต้ชื่อ บ้านไร่ต้นฝัน มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้สมาชิกผลิตข้าวอินทรีย์ และยกระดับจากมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ เพื่อให้ได้ใบรับรอง IFOAM (โครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์)
"เครื่องลดความชื้นข้าวกล้องงอกต้นแบบ" วว. พัฒนาต่อยอดจาก "เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกระดับเกษตรกร" มีประสิทธิภาพในการลดความชื้นข้าวเปลือกได้หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ 1.ถังบรรจุข้าวเปลือกออกแบบเป็นถังทรงกระบอกกลม สามารถบรรจุข้าวเปลือกได้สูงสุด 400 กิโลกรัม/ครั้ง พร้อมติดตั้งชุดใบกวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความชื้น 2.ชุดจ่ายลมร้อน ออกแบบด้วยหลักการ Cyclone ช่วยให้มีการกระจายลมร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ ระบบให้ความร้อนด้วยแก๊ส LPG สามารถปรับตั้งอุณหภูมิในการลดความชื้นข้าวเปลือกได้ ตั้งแต่ 40-80 องศาเซลเซียส (ตามแต่ละชนิดของพันธุ์ข้าว) โดยสามารถลดความชื้นข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยว จากความชื้นเริ่มต้นประมาณ 23% ให้ลดลงเหลือ 14% ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง เชื้อเพลิงจากแก๊ส LPG ขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม สามารถลดความชื้นข้าวเปลือกได้สูงสุด 2 ตัน/วัน
"...เครื่องลดความชื้นข้าวกล้องงอกต้นแบบ ที่ วว. นำไปช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรจังหวัดแพร่ และพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต อยู่ภายใต้การดำเนินงานที่มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วว. ให้ความสำคัญและมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร ที่จะเข้าไปรับโจทย์และตอบโจทย์ให้แก่ทุกๆ ท่าน เพื่อความเข้มแข็งของประเทศต่อไป" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit