โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พช. เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสู่ชุมชนฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยิ่งยืนท่ามกลางประเทศกำลังประสบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ตอนนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และ พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ. อุบลราชธานี
พระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ กล่าวว่า "โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล (พระทำ) แห่งนี้ ตั้งอยู่พื้นที่ 6 ไร่ โดย แบ่งเนื้อที่เป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนแรกทำเป็นโคกจำนวน 2 ไร่ สำหรับปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์ของพระราชา
ส่วนที่สอง ทำเป็นหนอง สระน้ำ มี 3 งาน สำหรับใช้ในการปลูกผัก ทำประมง และปศุสัตว์
สำหรับส่วนที่สาม สำหรับทำ 'นา' มี 3 ไร่ 1 งาน เพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ ขยายพันธ์ข้าวแจกจ่ายชาวบ้าน ร่วมทั้งทำเป็นธนาคารข้าวสำหรับรักษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของท้องถิ่น
"ที่ผ่านมาศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ เป็นสถานที่อบรมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ด้วย ตอนนี้อบรมไปแล้ว 16 รุ่นๆ ละประมาณ 100 คน ศูนย์แห่งนี้ขับเคลื่อนทุกอย่างตั้งอยู่บนฐานะ 1 พ. คือ พอใช้ พออยู่ และ พอร่มเย็น ตามหลักทฤษฎี 9 ขั้น ด้วยความร่วมมือของ "บวร" วัด บ้าน โรงเรียน และ ราชการ.."
ทางด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวว่า "ขอให้พระคุณเจ้าและชุมชนมั่นใจ ในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ว่าเป็นของจริง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบรมชนกของพระองค์ เพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา สร้างความเข้มแข็งเรื่องอาหาร พืชผัก อันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของครอบครัว มีข้าว มีปลา สามารถเลี้ยงดูคนในครัวครัวและชุมชนได้"
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผมเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จังหวัดอุบลราชธานี จะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น หาก 1 ไร่ มีเพิ่มขึ้น 1 พันต้น ถ้า 3,960 แปลง ก็จะมีป่าเพิ่มมากกว่าล้านต้น และจะช่วยทำให้ดินฟ้าอากาศดี ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นช่วยให้ครัวเรือนต้นแบบมีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน
"สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ถือว่ามีความพร้อมและมีศูนย์เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ ในการขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา โดยมีศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน นอกจากนั้น ยังได้นำผลผลิตจากโคก หนอง นา ในพื้นที่ มาแบ่งปันให้ผู้อื่น เป็นการแสดงความเกื้อกูลและเอื้ออาทรจากการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้แก่ผู้ที่มีความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น พืชผักสวนครัว ไม้ผล ข้าวสารอาหารแห้ง และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ตามคำกล่าวที่ว่า "ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา" Our Loss is OurGain โดยพลังเครือข่ายแบบหลัก บวร. คือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ซึ่งในอดีตสังคมไทยเราก็ใช้หลักการนี้ ในการเกื้อกูลและความมีน้ำใจต่อกัน เป็นตัวเชื่อม ให้เกิดความรู้รักสามัคคีขึ้นในชุมชนท้องถิ่น"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit