PwC คาดแนวโน้มแย่งชิงทาเลนต์ที่มีทักษะด้านดิจิทัลพุ่งหลังโควิด-19

23 Jun 2021

PwC ประเทศไทย คาดองค์กรไทยจะเผชิญกับภาวะการแย่งชิงทาเลนต์ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลขั้นสูงมากขึ้น หลังวิกฤตโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานทั่วโลก พร้อมแนะภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันยกระดับทักษะแรงงานให้มีความครอบคลุมเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานในอนาคตและลดความเสี่ยงจากการถูกเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงาน

PwC คาดแนวโน้มแย่งชิงทาเลนต์ที่มีทักษะด้านดิจิทัลพุ่งหลังโควิด-19

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านแรงงาน (Workforce trends) ที่สำคัญหลายด้านทั้งความต้องการในการเพิ่มพูนทักษะแรงงานทางด้านดิจิทัล (Digital upskilling) ที่เพิ่มขึ้น การปรับรูปแบบของการทำงานไปสู่การทำงานระยะไกล (Remote working) รวมไปถึงความกังวลของการเข้ามาของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่อาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในอนาคต เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจ้างแรงงานที่มีทักษะสูง (Skilled workforce) ในโลกยุคนิวนอร์มัล จะยิ่งมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดแรงงานไทยที่กำลังต้องการแรงงานที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล ดาต้า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคลาวด์ 

"แนวโน้มการจ้างงานประเภท Highly skilled workforce ในเมืองไทยจะยิ่งมีมากขึ้น เพราะตลาดต้องการทักษะทางด้านดิจิทัล ดาต้า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคลาวด์ ซึ่งแรงงานประเภทนี้เรียกได้ว่า จะมีการแย่งตัวกันจนเป็น Talent War รุนแรงที่สุดเลยก็ว่าได้" ดร. ภิรตา กล่าว

"ส่วนแรงงานที่มีทักษะระดับปานกลางไปจนถึงระดับต่ำ จะมีความเสี่ยงจากการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนการทำงาน ซึ่งตอนนี้หลายอุตสาหกรรมมีการนำเอไอเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งงานประเภทคอลเซ็นเตอร์และพนักงานขายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ" เธอ กล่าว

ทั้งนี้ รายงาน Hopes and Fears 2021 ของ PwC ซึ่งได้ทำการรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มแรงงานโลกจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 32,517 คน ใน 19 ประเทศ ประกอบด้วย เจ้าของธุรกิจ พนักงานสัญญาจ้าง นักศึกษา แรงงานที่กำลังหางาน รวมไปถึงแรงงานที่ต้องถูกพักงาน หรือเลิกจ้างเป็นการชั่วคราวพบว่า วิกฤตโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลของแรงงาน โดย 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ได้มีการพัฒนาทักษะดิจิทัลของตนเองในช่วงล็อกดาวน์ (Lockdown) ซึ่งมาตรการดังกล่าว รวมทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ยังส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ไปสู่การทำงานระยะไกลที่คาดว่า จะยังคงอยู่ภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง

ดร. ภิรตา กล่าวเสริมว่า องค์กรต่าง ๆ ยังได้หันมาพัฒนาทักษะที่ส่งเสริมการทำงานระยะไกลมากขึ้น เช่น ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ทักษะการใช้โปรแกรมที่สนับสนุนการทำงาน เช่น การเก็บและแชร์ไฟล์บนคลาวด์ รวมถึงทักษะการประชุมและการนำเสนอผ่านออนไลน์ (Video conference and virtual presentation skills) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รายงานของ PwC ระบุว่า ความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Job security) ยังคงเป็นความกังวลอันดับต้น ๆ ของแรงงาน โดย 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความกังวลว่า ระบบอัตโนมัติจะทำให้ตำแหน่งงานจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะที่ 48% เชื่อว่า การจ้างงานในรูปแบบเดิมจะหายไป และ 39% คิดว่า งานที่ทำอยู่จะล้าสมัยภายใน 5 ปีข้างหน้า 

ยกระดับทักษะแรงงานไทย

ดร. ภิรตา กล่าวว่า ในช่วงของการแพร่ระบาด องค์กรไทยส่วนใหญ่มีการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงานแบบเชิงรับ มากกว่าเชิงรุก ดังนั้น ผู้บริหารควรหันมาวางแผนการพัฒนาทักษะองค์กรในระยะยาว โดยเริ่มจากพิจารณาว่า งานในตำแหน่งอะไรที่มีโอกาสจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ และมีงานประเภทไหนที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อประเมินความหมาะสมในการถ่ายโอนและเพิ่มพูนทักษะที่ต้องการต่อไป

"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรไทยส่วนใหญ่มีความตื่นตัวในเรื่องของการอบรมทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงาน รวมถึงจัดให้มีสื่อการเรียนรู้ประเภท E-learning แต่จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรไทยยังคงต้องมีการยกระดับทักษะให้ครอบคลุมและปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้แรงงานมีทักษะที่จำเป็นต่อการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานที่คาดว่า จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะข้างหน้า" ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะแรงงานจำนวน 1.37 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา จะต้องใช้เงินสูงถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] หรือราว 1.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 24,800 ดอลลาร์ต่อคน (780,000 บาทต่อคน) แต่ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงจนน่าตกใจ การเพิกเฉยจะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับการพัฒนาแรงงานในอนาคต 

"การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทำให้งานจำนวนหลายล้านตำแหน่งในเวลานี้ต้องว่างลง นายจ้างหลายรายไม่สามารถหาแรงงานที่เหมาะสมมาทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ นั่นแปลว่า การยกระดับทักษะแรงงานของไทยทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดในอนาคตจะเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้นำภาครัฐและเอกชนต้องเร่งผลักดัน" ดร. ภิรตา กล่าว

"ในระดับองค์กร การ upskill และ reskill จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้เสริมองค์ความรู้และเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน นอกจากนี้ ยังช่วยปรับวิธีคิดและทัศนคติให้รู้จักที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง โดยการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ ทั้งภาวะความเป็นผู้นำ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ควบคู่ไปด้วยจะทำให้ journey ของการยกระดับทักษะพนักงานมีความยั่งยืนมากขึ้น" ดร. ภิรตา กล่าว

[1] The case for change: New world. New skills., strategy+business, PwC

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit