ปรับแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนยังแผ่ว แม้ "โคะงุมะ" ช่วยเติมน้ำเข้าเขื่อนรวมกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.

21 Jun 2021

"บิ๊กป้อม"จี้ทุกหน่วยงานเร่งเก็บน้ำให้เต็มที่ หลัง กอนช.ชี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำต้นทุนยังไม่พ้นวิกฤต แม้ใจชื้นแนวโน้มฝนตกเพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์นี้ ย้ำแผนจัดการน้ำทั้งระบบน้ำฝน และพื้นที่เขตชลประทานป้องพืชเศรษฐกิจปากท้องประชาชน โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกินร้อยละ 10 ของแผน

ปรับแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนยังแผ่ว แม้ "โคะงุมะ" ช่วยเติมน้ำเข้าเขื่อนรวมกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศในปัจจุบัน (ณ 21 มิ.ย.64) ว่า ช่วงสัปดาห์นี้พบสัญญาณการกลับมาของฝนที่จะตกลงมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีปริมาณฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นที่จะตกต่อเนื่องไปถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่จะส่งผลดีกับระดับน้ำทั้งในแม่น้ำสายหลักที่มีน้ำน้อยได้ในบางพื้นที่ และในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่สามารถเก็บกักน้ำจากอิทธิพลของพายุ "โคะงุมะ" ตั้งแต่วันที่ 9 - 20 มิ.ย. 64 ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวม 1,393 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งสูงสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 567 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 355 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันตก 269 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ กอนช. จะมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความแปรปรวนสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร รวมถึงการพิจารณาแสนอแผนงานโครงการป้องกันผลกระทบในบางพื้นที่ที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากฝนตกน้อยยาวต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ค. และแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ จำนวน 8 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น รวมถึงโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าถึงแหล่งน้ำชลประทานไว้เก็บกักน้ำหลากและป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ที่คาดว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นด้วย

"แม้ว่าการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2564 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ โดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผน ยกเว้นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกร ได้แก่ ข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า มีการเพาะปลูกแล้ว 5.56 ล้านไร่ จากแผน 1.9 ล้านไร่ โดยเก็บเกี่ยวแล้ว 5.09 ล้านไร่ รวมถึงข้าวนาปี ปี 2564 มีการเพาะปลูกแล้ว 7.52 ล้านไร่ หรือ 45% จากแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 16.65 ล้านไร่ โดยอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึง 7.97 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.5 ล้านไร่ คิดเป็น 56.46 ของแผนฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การจัดสรรน้ำในฤดูฝนปี 2564 เกินแผนในภาพรวมกว่า 30% โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำอยู่อย่างจำกัดตั้งแต่ปลายฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำเกษตรน้ำฝน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอกับสัดส่วนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นฤดูในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีการจัดสรรน้ำเกินแผนไปแล้วถึง 50% โดยล่าสุด เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้มีการปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 21 - 27 มิ.ย. 64 จากอัตราวันละ 14 ล้าน ลบ.ม. เป็นอัตราวันละ 16 ล้าน ลบ.ม." ดร.สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานบริหารจัดการณ์น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกินร้อยละ 10 ของแผน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนเมื่อสิ้นสุดฤดูส่งน้ำ และขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกกิจกรรมบริเวณต้นน้ำ - กลางน้ำ อย่าดักเก็บกักน้ำเกินความต้องการใช้น้ำ อันจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้น้ำบริเวณปลายน้ำเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูงขึ้น เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ และเร่งเก็บกักน้ำในทุกรูปแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อช่วยกันวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดไม่ให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำส่วนอื่นๆ ด้วย และยังต้องสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้าด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดรอบเวร การประหยัดน้ำ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันไม่เพียงแต่การจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว