สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) เผยโลกสงบสุขน้อยลงเนื่องจากโควิด-19 ทำให้ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

17 Jun 2021

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก ได้เผยแพร่รายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index: GPI) ฉบับที่ 15

ผลการค้นพบที่สำคัญ 

- ความไม่สงบทางสังคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 10% โดยเบลารุสย่ำแย่ที่สุด ขณะที่ทั่วโลกมีการชุมนุม การประท้วง และการจลาจลรุนแรง 14,871 ครั้ง ในปี 2563 
- กว่า 60% ของคนทั่วโลกกังวลว่าจะได้รับอันตรายร้ายแรงจากอาชญากรรมรุนแรง
- ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก
- แม้ว่าสถานการณ์การขยายอิทธิพลทางทหารจะดีขึ้นนับตั้งแต่ปี 2551 แต่ตอนนี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแนวโน้มดังกล่าวกำลังสวนทาง
- ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในปี 2563 สู่ระดับ 14.96 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 11.6% ของจีดีพีทั่วโลก หรือเท่ากับ 1,942 ดอลลาร์ต่อคน อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้น
- ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโควิด -19

- ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อความรุนแรง โดยบางปัจจัยชี้วัดก็ดีขึ้น เช่น ความขัดแย้งรุนแรง แต่บางปัจจัยชี้วัดก็แย่ลง เช่น การชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยประเทศที่สถานการณ์แย่ลงมีมากกว่าประเทศที่สถานการณ์ดีขึ้นถึง 3 เท่า
- ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่สถานการณ์แย่ลงมีมากกว่าประเทศที่สถานการณ์ดีขึ้น 2 เท่า
- เกิดการประท้วงต่อต้านมาตรการเกี่ยวกับโควิดในวงกว้าง โดยเกิดเหตุกว่า 5,000 ครั้งทั่วโลก
- หลายประเทศ เช่น อินเดีย ชิลี อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และแอฟริกาใต้ ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากเป็นพิเศษ
- สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย เยอรมนี ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สโลวีเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ได้ดีที่สุด

รายงานดัชนีสันติภาพโลก ฉบับที่ 15 ซึ่งเป็นรายงานชั้นนำของโลกที่ชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก ได้เผยให้เห็นว่า ระดับความสงบสุขโดยเฉลี่ยทั่วโลกลดลงเป็นครั้งที่ 9 ในรอบ 12 ปี ในปี 2563 โดย 87 ประเทศมีความสงบสุขมากขึ้น ขณะที่ 73 ประเทศมีความสงบสุขลดลง นับว่าน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของการจัดทำดัชนี แต่รายงานระบุว่าความสงบสุขเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าความสงบสุขลดลง และในขณะที่ทั่วโลกมองไปที่การฟื้นตัวจากโควิด-19 ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา   

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส และสโลวีเนีย ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเยเมน ซีเรีย เซาท์ซูดาน และอิรัก นอกจากนี้ รายงานระบุว่า 8 จาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดเป็นประเทศในยุโรป นับว่าจำนวนประเทศในยุโรปที่ติดท็อป 10 มีสัดส่วนสูงสุดในประวัติศาสตร์ของการจัดทำดัชนี

ความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากความขัดแย้งลดลงอย่างมาก ถึงกระนั้นก็ยังเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก ทั้งนี้ อิรักเป็นประเทศที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่ยูเครน ส่วนบูร์กินาฟาโซมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในโลก โดยร่วงลงมาถึง 13 อันดับ

ปัจจัยชี้วัดที่ย่ำแย่ลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2564 คือค่าใช้จ่ายทางทหาร (105 ประเทศ), การนำเข้าอาวุธ (90 ประเทศ), ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (46 ประเทศ) และการชุมนุมด้วยความรุนแรง (25 ประเทศ) ส่วนปัจจัยชี้วัดที่ดีขึ้นมากที่สุดประกอบด้วยการก่อการร้าย (115 ประเทศ), ความขัดแย้งภายใน (21 ประเทศ) และการเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน (33 ประเทศ)  

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ IEP กล่าวว่า "การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความสงบสุขทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าระดับความขัดแย้งและการก่อการร้ายจะลดลงในปี 2563 แต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมด้วยความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบของโควิดที่มีต่อเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศที่ลำบากอยู่แล้วก่อนเกิดโรคระบาด"  

ความไม่สงบทางสังคมและโควิด -19

แนวโน้มเชิงลบที่สำคัญในปีที่ผ่านมาคือความไม่สงบทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งย่ำแย่ลงเพราะสถานการณ์โรคระบาด

ภูมิภาคที่ความสงบสุขลดลงมากที่สุดคืออเมริกาเหนือ อันเป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การฆาตกรรม และการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ และการประท้วง Black Lives Matter ทั่วประเทศ ทำให้ความไม่สงบทางสังคม ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งภายในเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 

ในขณะที่ทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ ระดับความไม่สงบทางสังคมและการเมืองก็เพิ่มขึ้น โดยในระหว่างเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2564 เกิดเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดมากกว่า 5,000 ครั้ง และปัจจัยชี้วัดในส่วนของการชุมนุมด้วยความรุนแรงก็ย่ำแย่ลงใน 25 ประเทศ และมีเพียง 8 ประเทศที่ดีขึ้น นอกจากนี้ คะแนนการชุมนุมด้วยความรุนแรงยังอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีขึ้นมา โดยประเทศที่ย่ำแย่ลงที่สุดประกอบด้วยเบลารุส เมียนมา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐคีร์กีซ

ในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้น ประเทศที่มีความสงบสุขมากกว่าจะมีความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยประเทศที่มีความสงบสุขในระดับสูง หรือ High Peace* มีจำนวนชั่วโมงทำงานลดลงไม่ถึง 7% ส่วนประเทศที่มีความสงบสุขในระดับต่ำมีจำนวนชั่วโมงทำงานลดลงถึง 23% จากรายงานธุรกิจและสันติภาพประจำปี 2564 ของ IEP 

การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบหลังสถานการณ์โรคระบาดไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็วหรือง่ายดาย และมีแนวโน้มว่าจะไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีสภาพการเงินอ่อนแอจะลำบากกว่าประเทศอื่น ทั้งนี้ อิเควทอเรียลกินี เซียร์ราลีโอน และลาว เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่ความสงบสุขจะลดลงอย่างมาก

แม้ว่ายุโรปจะเกิดการประท้วงหลายครั้งในปีที่ผ่านมา แต่ภูมิภาคนี้ยังคงมีความสงบสุขมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาค รวมถึงปัจจัยชี้วัดสำคัญอย่างการขยายอิทธิพลทางทหาร ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทางทหาร การนำเข้าอาวุธ แสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และอาวุธหนัก

การขยายอิทธิพลทางทหารและการก่อการร้าย

การขยายอิทธิพลทางทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีประเทศมากขึ้นที่เพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารและจำนวนทหาร นับว่าสวนทางกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า ซึ่ง 105 ประเทศสถานการณ์ดีขึ้น และมีเพียง 57 ประเทศที่ย่ำแย่ลง ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และเกาหลีใต้ เพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน โดยข้อมูลเบื้องต้นของปี 2563 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายต่ำกว่า 10,000 คน

แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งจะลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 แต่จำนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นถึง 88% นับตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งใหม่ ๆ เกิดขึ้นในบริเวณซาเฮล (Sahel) และจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 65% ของความขัดแย้งรุนแรงทั้งหมดในรายงาน GPI ประจำปี 2564 และข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไป

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 สู่ระดับ 14.96 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 11.6% ของจีดีพีทั่วโลก หรือเท่ากับ 1,942 ดอลลาร์ต่อคนทุกคนบนโลก อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 3.7%

Thomas Morgan รองผู้อำนวยการการวิจัย กล่าวว่า "ความรุนแรงเป็นภัยคุกคามสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับคนมากมายทั่วโลก โดยกว่า 60% ของคนทั่วโลกกังวลว่าจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมรุนแรง แต่แม้ว่าจะกลัวความรุนแรง คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าโลกของเราเริ่มปลอดภัยมากขึ้น โดยคนเกือบ 75% ทั่วโลกรู้สึกว่าโลกปลอดภัยหรือปลอดภัยมากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว"

ความรุนแรงและความปลอดภัย

ความรุนแรงยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วนของคนมากมายทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดต่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันในเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก โดยประชากรกว่าครึ่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน บราซิล แอฟริกาใต้ เม็กซิโก และสาธารณรัฐโดมินิกัน ระบุว่าความรุนแรงเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดต่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยชี้วัดความรุนแรงบางประการกลับดีขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนี หนึ่งในนั้นคือการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรม ซึ่งดีขึ้นใน 86 ประเทศ ขณะเดียวกัน อัตราการฆาตกรรมก็ลดลงใน 123 ประเทศนับตั้งแต่ปี 2551 และประชาชนใน 84 ประเทศระบุว่ารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเดินคนเดียว ทั้งนี้ รายงานระบุว่าผู้หญิงกลัวความรุนแรงมากกว่าผู้ชาย 5%** และบางประเทศตัวเลขสูงกว่านี้มาก เช่นในโปรตุเกส ซึ่งผู้หญิงกลัวความรุนแรงมากกว่าผู้ชายถึง 23%

ภาพรวมในระดับภูมิภาค   

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก แต่ก็มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด
- ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ประชากรครึ่งหนึ่งเพิ่งผ่านประสบการณ์ความรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศนามิเบียผ่านประสบการณ์ความรุนแรงสูงสุดในโลกที่ 63%
- กว่า 50% ของประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยในประเทศจีนนั้น ประชาชน 63% รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสูงสุดในภูมิภาค
ยุโรปมีความสงบสุขมากขึ้นในรายงาน GPI ประจำปี 2564 เพราะปัจจัยชี้วัดผลกระทบจากการก่อการร้ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ความสงบสุขลดลงมากที่สุด อันเป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา
- นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ความสงบสุขลดลงในรัสเซียและยูเรเชีย อันเป็นผลมาจากการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น
อเมริกาใต้เป็นภูมิภาคที่ความสงบสุขลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสอง เนื่องจากอาชญากรรมรุนแรงและความไม่สงบทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
เอเชียใต้เป็นเพียง 1 ใน 3 ภูมิภาคที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยชี้วัดด้านการขยายอิทธิพลทางทหารและความมั่นคงปลอดภัยดีขึ้น
- ในอเมริกากลางและแคริบเบียน พบว่า 9 ประเทศมีความสงบสุขลดลง และมีเพียงนิการากัว เฮติ และกัวเตมาลา ที่มีความสงบสุขเพิ่มมากขึ้น

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2564 รวมถึงรายงานธุรกิจและสันติภาพประจำปี 2564 ได้ที่ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

* High Peace คือทัศนคติ ธรรมเนียม และโครงสร้างที่ช่วยสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม หรือรู้จักในอีกชื่อว่า Positive Peace
** ข้อมูลจาก Lloyds Register World Risk Poll/IEP

ดูรายงาน GPI รวมถึงบทความ และแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org
ทวิตเตอร์: @globpeaceindex / twitter.com/globpeaceindex
เฟซบุ๊ก: @globalpeaceindex / facebook.com/globalpeaceindex 

เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก

รายงานดัชนีสันติภาพโลก จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg