"FSMART" โชว์ 1Q/64 กำไร 111 ล้านบาท ท่ามกลางโควิด-19 มั่นใจทำกำไรต่อเนื่อง ช้อปออนไลน์หนุนเติมเงิน เข้า e-Wallet พุ่งกระฉูด 97.8% ยอดโอนเงินแตะ 2 ล้านรายการต่อเดือน โต 46.8% ชูตู้บุญเติมเป็นธนาคารชุมชน เตรียมเปิดตัว Mini ATM ถอนเงินสดเริ่มต้น 20 บาท พร้อมเร่งเพิ่มบริการใหม่และขยายจุดบริการคาเฟ่อัตโนมัติ "เต่าบิน" 5,000 จุด สิ้นปีนี้
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้ชื่อ "บุญเติม" ที่ล่าสุด วารสารการเงินธนาคาร จัดอันดับ FSMART เป็นบริษัทยอดเยี่ยมประจำปี 2563 ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยงวดไตรมาส 1 ปี 2564 สามารถทำกำไรได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกระลอก โดยบริษัทมีมูลค่าเติมเงินรวมผ่านตู้บุญเติมอยู่ที่ 9,627 ล้านบาท รายได้รวม 707 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 111.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน
"พฤติกรรมใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์และบริการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ดันบริการเติมเงินเข้า e-Wallet มีมูลค่าเติมเงินเป็น 1,568 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 97.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และยอดรายการโอนเงิน 2 ล้านรายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 46.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าโอนเงิน 3,209 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก ใช้งานง่าย บริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการหลากหลาย รวมถึงการทยอยลดสาขาของธนาคาร อีกทั้งธุรกิจสินเชื่อสร้างรายได้ 3.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และ NPL อยู่ที่ 2.5%" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทรุกทุกธุรกิจหลักของบริษัทตามแผนที่วางไว้ โดยกลุ่มธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ นอกจากบริการเติมเงินมือถือและ e-Wallet จะเพิ่มบริการใหม่ ๆ ทั้งการชำระเบี้ยประกัน การรับชำระ พ.ร.บ. พร้อมต่อทะเบียน และเติมเงินบัตรรถโดยสาร ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ที่เพิ่มช่องทางการใช้บริการบุญเติมมากขึ้น คาดว่าจะทำให้ยอดเติมเงินรวมเติบโตได้ 15-20% หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่กลุ่มธุรกิจทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรมีอัตราการเติบโต อย่างต่อเนื่อง เป้าเติบโต 30% โดยตู้บุญเติมจะเป็นเสมือนธนาคารชุมชนที่มีบริการทางการเงินครบวงจร ฝาก-โอน-ถอน-เปิดบัญชี และการให้สินเชื่อ รองรับลูกค้าคนไทยและต่างด้าว พร้อมผลักดันบริการใหม่ เช่น บริการ e-KYC เพื่อเปิดบัญชี e-Saving ที่ให้บริการกับ KBANK และ SCB แล้ว คาดครึ่งปีหลังจะให้บริการครบทั้งธนาคารและ Non-bank สำหรับบริการถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม (Mini ATM) ที่สามารถถอนเงินสด เริ่มต้นที่ 20 บาท คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 3 รวมถึงบริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านตู้บุญเติมต่อไป และบริษัทจะเพิ่มการเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ธนาคารในปีนี้ ส่วนธุรกิจสินเชื่อ บริษัทยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า บริษัทผลักดันคาเฟ่อัตโนมัติ "เต่าบิน" ที่ปัจจุบันสามารถชงกาแฟและเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นได้มากกว่า 100 เมนู รสชาติคงที่ทุกแก้ว และให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เร่งขยายจุดบริการ 5,000 จุด ภายในสิ้นปีนี้ และ 20,000 จุด ใน 3 ปี อีกทั้งทุกคาเฟ่อัตโนมัติมีบริการของตู้บุญเติม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจุดบริการบุญเติม มากขึ้น โดยบริษัทไม่ต้องลงทุนตู้ใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าจากราคาเฉลี่ยแก้วละ 30 บาท จะสร้างยอดขายกว่า 18 ล้านบาทต่อวัน จากยอดขาย 600,000 แก้วต่อวัน ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก มียอดขายเฉลี่ยต่อจุดบริการอยู่ที่ 40-100 แก้วต่อวัน ในส่วนเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ภายใต้แบรนด์ "EV Net" บริษัทเตรียมพร้อมทั้งเครื่องและแพลตฟอร์มชำระเงิน "Be-Charger" ซึ่งจะเน้นการให้บริการในทำเลแบบพื้นที่ปิดที่มีการจอดรถเป็นเวลานาน หรือมีการจอดรถหมุนเวียน เช่น จุดจอดรถ ในอาคารสำนักงาน หรือคอนโดมิเนียม เป็นต้น กลุ่มธุรกิจนี้จะขยายฐานลูกค้าใหม่ให้บริษัทมากขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit