โรงพยาบาลบางขุนเทียนถือเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นด่านหน้าของการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งทีมแพทย์ได้ใช้เทคโนโลยีโทรเวชกรรมผ่านโครงข่าย 5G และเทคโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งรวมไปถึงเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงสำหรับบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ซึ่งสามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายคือการช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลและการสื่อสารผ่านโครงข่ายความเร็วสูง ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการจัดหาและส่งมอบเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีที่ส่งมอบนั้นรวมถึงระบบโทรเวชกรรมแบบ 5G (Telemedicine) ระบบการจัดการคนไข้แบบอัจฉริยะ (InPatient area Intelligent Management) และระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ eLTE เพื่อยกระดับการเชื่อมต่อให้กับโรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน
ในช่วงปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมนั้นถือว่าหนักหนาสาหัส ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในระดับบุคคล อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือกันเพื่อจัดการกับการแพร่กระจายของโควิด-19 และร่วมกันกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหัวเว่ยเองได้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับโควิด-19 และเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในระยะยาว
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นย้ำว่า การร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนี้ สอดคล้องกับพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย ในฐานะที่เป็นพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยี เป็นผู้มีส่วนร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งความท้าทายท่ามกลางโรคระบาดนี้ นายอาเบลได้ย้ำถึงพันธกิจของบริษัทว่า หัวเว่ยจะยืนเคียงข้างประเทศไทย และช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ จากการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น5G คลาวด์ และ AI เข้ามาช่วยรับมือกับความท้าทายทั้งในภาคสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ
หากมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่หัวเว่ยได้ทำตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2563 จะเห็นได้ว่าหัวเว่ยทำงานร่วมกับรัฐบาล เอกชน และพันธมิตรรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงโรงพยาบาลในไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 เริ่มระบาด เพื่อช่วยปกป้องผู้คนและช่วยให้ภาคสังคมฟื้นตัวได้ โดยในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 หัวเว่ยได้ส่งมอบโซลูชันการประชุมผ่านวิดีโอสำหรับใช้ในการแพทย์หรือ Telemedicine ให้กับกรมควบคุมโรค โดยทีมงานของหัวเว่ยได้เข้าทำการติดตั้งระบบใน 5 จุดภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ การส่งมอบระบบดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท ครอบคลุมระบบโทรเวชกรรม 7 ชุด รองรับบัญชีผู้ใช้งานผ่านมือถือจำนวน 200 ผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากทั่วประเทศสามารถติดต่อสื่อสารกับทีมแพทย์ด่านหน้าได้ เพื่อให้การวินิจฉัยและติดตามอาการผ่านอุปกรณ์มือถือ ลดความเสี่ยงของการติดโรค และในวันเดียวกันนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ไอทีของกรมควบคุมโรค พร้อมแสดงความขอบคุณเหล่าทีมแพทย์ซึ่งประจำอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลบางพลี และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผ่านระบบการประชุมทางไกล รวมถึงฝากให้หัวเว่ยได้ใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในการเดินหน้าสานต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย
หัวเว่ยยังมุ่งมั่นพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคและการประเมินด้วยภาพ CT-Scan และการมอบบริการความช่วยเหลือผ่าน AI (AI-Assisted Service) ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 31 มีนาคมในปีที่ผ่านมา โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า "เทคโนโลยี AI ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โซลูชันนี้ส่งผลให้จำนวนงานของบุคลากรทางการแพทย์ลดลงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์เช่นนี้" นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ต่อยอดด้วยการร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเสริมว่า "เทคโนโลยี AI สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยผลจากการตรวจแบบ CT-Scan จากเคสติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลง" ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลศิริราชเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการปฏิบัติการเพื่อป้องกันโรคระบาด รวมไปถึงสภาพการทำงานและการดูแลผู้ป่วย และได้ทดลองใช้บริการวินิจฉัยโรคด้วยการช่วยเหลือจาก AI ของหัวเว่ยอีกด้วย
นอกเหนือไปจากความร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐทั้งสองแห่ง หัวเว่ยยังมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีไปยังองค์กรเอกชนด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ได้ร่วมกับหัวเว่ย กลุ่มบริษัท จันวาณิชย์ และ HY Medical จากประเทศจีน พัฒนาเทคโนโลยี AI ในการช่วยตรวจสอบและวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในผู้ป่วย โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาจึงเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในภูมิภาคที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและตรวจหาไวรัสได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ความร่วมมือทั้งหมดที่กล่าวมาได้พิสูจน์แล้วว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลไทยอย่างมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วยการนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ และ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ต้อนรับนายอาเบล เติ้ง ณ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลรวมไปถึงอีโคซิสเต็ม 5G ในการสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภูมิภาคนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนประเทศไทยในช่วงที่เผชิญกับสถานการณ์วิกฤตด้วยการมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 500,000 ชิ้น เพื่อช่วยเหลือบุคลากรของภาครัฐในการป้องกันโควิด-19
จากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ หัวเว่ยจึงได้เร่งผลักดันการใช้งาน 5G และเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ เพื่อการสาธารณสุขอัจฉริยะของประเทศไทย โดยในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563 หัวเว่ยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และโรงพยาบาลศิริราช นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ในโครงการนำร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับเป็นครั้งแรกของประเทศ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการสาธารณสุขไทยสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะผ่านนวัตกรรม 5G โดยรถอัจฉริยะไร้คนขับดังกล่าวมอบความสะดวก ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อการใช้งาน ทั้งยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และเสริมความปลอดภัยให้กับคนไข้ ทั้งนี้ จาก การนำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ในระบบสาธารณสุขพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะในอนาคตอันใกล้
เพื่อสานต่อความร่วมมือที่ผ่านมาและความสำเร็จจากโครงการที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลฯ ในการเป็นศูนย์การแพทย์อัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ หัวเว่ยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบริการอัจฉริยะ 5G ที่ขับเคลื่อนด้วย Cloud และ AI (5G Powered Smart Hospital Enabled with Cloud and AI) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดย ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ข้อตกลงครอบคลุมระยะเวลา 5 ปีนี้ จะช่วยยกระดับและมาตรฐานการบริการของโรงพยาบาลและเสริมประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น ทั้งยังนับว่าเป็นก้าวแรกสู่การก่อตั้งโรงพยาบาลรัฐอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าความพยายามและความมุ่งมั่นของหัวเว่ยดังที่กล่าวมา ช่วยให้รัฐบาลและสังคมไทยต่อสู้กับโควิด-19 และเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในช่วงหลังโรคระบาดได้อย่างเข้มแข็ง โดยหัวเว่ยช่วยเสริมศักยภาพของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นประเทศที่มีความพร้อมด้าน 5G สูงสุด รวมถึงการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน หัวเว่ย ในฐานะบริษัทในประเทศไทยที่ต้องการร่วมสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งมีพนักงานกว่า 3,300 คน ยังคงมุ่งส่งเสริมคุณค่าทางสังคมไทยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการฟูมฟักบุคลากรด้านดิจิทัล การลดช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่น ๆ
ด้วยความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนสังคมไทยตลอด 21 ปีที่ผ่านมา และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในยุคหลังโรคระบาดโควิด-19 หัวเว่ยจึงได้รับรางวัลอันทรงคุณค่า "พีเอ็ม ดิจิทัล อวอร์ด" ประเภท "Digital International Corporation of the Year" เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ ในโอกาสดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายของรัฐบาลในการนำระบบ 5G และ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ และขอให้หัวเว่ยดำเนินพันธกิจด้านดิจิทัลต่อไป โดยนายอาเบล เติ้ง ได้ตอบรับและเน้นย้ำถึงพันธกิจ "เติบโตในประเทศไทย ช่วยสนับสนุนประเทศไทย" ของบริษัท และหัวเว่ยพร้อมร่วมผลักดันประเทศไปข้างหน้าตามนโยบาย Thailand 4.0 ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและเทคโนโลยี ICT ที่ไว้วางใจได้ และยังเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในเชิงรุก ผู้สร้างสรรค์คุณค่าทางสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit