เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพลิกฟื้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ให้อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดอย่างไร

11 May 2021

กลยุทธ์ดิจิทัลไม่เพียงช่วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้ไปต่อ แต่ยังช่วยให้เติบโตต่อไปแม้ยังมีการแพร่ระบาด โดย เชอรี่ หวง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความร่วมมือกับผู้ค้าทั่วโลกของอาลีเพย์ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพลิกฟื้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ให้อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดอย่างไร

เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของอาหารที่นอกจากจะทำให้เราอิ่มท้องแล้ว ยังช่วยให้เรารู้สึกสบายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของ Social distancing ที่ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่คุณสั่งมาตอนเที่ยง การตั้งโต๊ะกินชาบูกับเพื่อนๆ หรือการลิ้มลองครัวซองต์แสนอร่อยจากร้านเบเกอรี่ใกล้บ้านช่วงที่คุณต้อง WFH นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการแล้ว รสชาติที่คุ้นเคยยังช่วยให้คุณผ่อนคลาย เสริมสร้างกำลังใจในยามที่โลกกำลังมองหาหนทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ในความเป็นจริง ธุรกิจบริการด้านอาหารกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ ขณะที่การแพร่ระบาดส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

แนวโน้มสำคัญที่เราพบเห็นคือ ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ในเอเชีย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน  ข้อมูลจาก Deloitte[1] ชี้ว่า ผู้ใหญ่วัย 21-40 ปีเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life) อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ โดย 78% ระบุว่าใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาด

สำหรับธุรกิจ F&B แบบเดิม ๆ แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในเอเชีย แพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร Fly-Food ในไทย ได้นำเสนอโซลูชั่นภายใต้ความร่วมมือกับอาลีเพย์ (Alipay) เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในไทย โดยมุ่งเน้นบริการส่งอาหารจีนให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2563 แพลตฟอร์ม Fly-Food ที่มีฐานธุรกิจหลักอยู่ในไทย มุ่งเน้นการให้บริการแก่ชาวจีนที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวมินิโปรแกรมบน Alipay โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าน่าจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ซึ่งส่งผลให้ชาวจีนไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้โดยสะดวก และอาหารท้องถิ่นของจีนน่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาจิตใจชาวจีนให้หายคิดถึงบ้านเกิดได้

การดำเนินการที่รวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัพรายนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง แต่ปัจจุบัน Fly-food มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยสูงถึง 700 รายการต่อวัน และมีร้านอาหารเข้าร่วมแพลตฟอร์มมากขึ้น โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารทั้งหมด (ประมาณ 1,500 ร้าน) เข้าร่วมแพลตฟอร์มหลังเกิดการแพร่ระบาด และหลายร้านมีรายได้ที่มากกว่าครึ่งมาจากออเดอร์ที่สั่งผ่าน Fly-Food เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าในการกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก

แนวคิดที่ว่า "ทำเลคือสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ" ยังคงเป็นความจริงแม้กระทั่งในยุคดิจิทัล กล่าวคือ ธุรกิจจำเป็นที่ต้องอยู่ในจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก โดยนอกจากจะมีหน้าร้านบนระบบดิจิทัลแล้ว ยังต้องทำประชาสัมพันธ์ และทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาธุรกิจของคุณได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะผ่านแอพส่งอาหาร แพลตฟอร์มบริการดิจิทัลไลฟ์ หรือเว็บไซต์ของคุณเอง

ตัวอย่างเช่น ทรูมันนี่ (TrueMoney) บริการดิจิทัลวอลเล็ท ได้เปิดตัวฟีเจอร์ "ร้านค้าใกล้คุณ"[2] ในช่วงการแพร่ระบาด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงร้านอาหารข้างทางและร้านสาขา ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารโดยไม่ต้องเดินทางไกล  ขณะเดียวกันฟีเจอร์นี้ก็มีประโยชน์ต่อร้านค้า เพราะช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เทรนด์การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเริ่มก่อตัวขึ้นในธุรกิจ F&B เห็นได้จากธุรกิจที่มีหน้าร้านตามปกติก็เริ่มหันไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขายสินค้าในรูปแบบดิจิทัล เช่น บัตรกำนัลสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อดึงดูดนักช้อปออนไลน์ให้เข้ามารับประทานอาหารที่ร้านในแบบออฟไลน์

ปัจจุบัน ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และมองหาหนทางในการลดการสัมผัส โดยหันไปใช้บริการที่ไว้ใจได้เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน  ความสามารถในการจองผ่านระบบออนไลน์ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล เครือข่ายการจัดส่งสินค้าที่มีความคล่องตัวสูง ทั้งหมดนี้คือแง่มุมสำคัญในการพิจารณาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางด้านดิจิทัล ควบคู่กับการดำเนินงานที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังแก่ธุรกิจในแต่ละประเทศ เช่น สำหรับงบประมาณปี 2564[3] รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศแผนการจัดสรรงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับโครงการใหม่ ๆ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนสนับสนุนบางส่วนแก่องค์กรต่าง ๆ ในการปรับใช้โซลูชั่นดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โครงการ Hawkers Go Digital ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ได้รับการตอบรับที่ดี โดยจากตัวเลขการลงทะเบียนจนถึงเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าเกือบหนึ่งในสามของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยราว 18,000 รายทั่วประเทศสิงคโปร์ได้เข้าร่วมโครงการนี้[4]

แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วโลกสามารถร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เพื่อมองหาหนทางใหม่ ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจท้องถิ่นเพื่อการเข้าถึงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร การสั่งซื้อทางออนไลน์แล้วไปรับสินค้าที่ร้าน การสำรองที่นั่ง หรือการเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการส่งเสริมการขายและการทำตลาด  ด้วยการทำงานและผนึกกำลังร่วมกัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ ธุรกิจ F&B จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติและสร้างอนาคตใหม่ที่สดใสได้อย่างแน่นอน

[1] ที่มา: https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/cn/Documents/technology-media-telecommunications/deloitte-cn-tmt-inclusion-en-200924.pdf

[2] ที่มา: https://www.theonlinecitizen.com/2020/05/01/contactless-innovations-keep-the-world-moving-amid-covid-19/

[3] Source: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/singapore-budget-2021/budget-2021-mature-firms-to-get-co-funding-for-adoption-of

[4] ที่มา: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/hawkers-e-payments-sgqr-code-hawkers-go-digital-programme-13014642

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit