ลูกนอนกรนแบบไหนที่ต้องพาไปพบแพทย์ ?คุณพ่อคุณแม่ อาจเคยได้ยินเสียงกรนของลูกในยามค่ำคืน แต่อาจไม่เคยรู้เลยว่าลูกมีโรคซึ่งทำให้เกิด "ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น" จนทำให้ถึงกับหยุดหายใจและพอหยุดหายใจก็จะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ที่ส่งผลให้ลูกน้อยมีโรคตามมาได้หลายอย่าง...!!
สาเหตุที่เจอบ่อยที่สุดเกิดจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนของเด็กจะมีขนาดเล็ก ในขณะที่ต่อมเหล่านี้ถ้าโตขึ้นมันก็จะไปขวางทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หยุดหายใจแล้วก็ขาดออกซิเจน
สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ก็คือ โรคทางด้านภูมิแพ้ทางจมูก, ไซนัสอักเสบ, มีความผิดปกติของจมูก เช่น ผนังจมูกคด ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับเยื่อบุจมูกบวมโต โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดจะอยู่ที่ 2-8 ขวบ เพราะในช่วงที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจะเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดการอักเสบทำให้ต่อมน้ำเหลืองในช่องคอโตขึ้น หรือเด็กอาจจะมีลักษณะของโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดปกติ, เด็กเป็นโรคอ้วนหรือโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม
วิธีสังเกตว่าลูกนอนกรนหรือไม่?อาการของโรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็ก ส่วนใหญ่เวลาเด็กนอนหลับเขาจะนอนกระสับกระส่ายไปมาหาท่าที่ทำให้หลับสบาย เด็กบางคนจะหายใจทางปากทำให้เด็กตื่นขึ้นมาแล้วปากคอแห้ง ถ้านอนกรนแบบยาวเรื้อรังแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลักษณะใบหน้าของเขาจะผิดรูป เพราะหายใจทางปากตลอดเวลาส่งผลให้ใบหน้าแหลม ฟันยื่น และบางคนอาจปัสสาวะรดที่นอน โดยเด็กอาจจะมีความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโต เพราะโกรทฮอร์โมนหลั่งขณะหลับจึงส่งผลได้หลายแบบ เช่น เด็กอาจซนผิดปกติ, ตัวเล็กกว่าเพื่อน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังไปเรื่อยๆ เด็กก็อาจจะมีปัญหาขาดสารอาหาร, การเรียนแย่ลง และมีผลทางด้านหัวใจและความดันโลหิตผิดปกติตามมาได้
ลูกนอนกรนต้องทำอย่างไร?คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรเฝ้าดูตอนที่เด็กนอนหลับ เพื่อจะได้สังเกตว่าหลับแล้วเขาหยุดหายใจหรือไม่ เขานอนกระสับกระส่ายหรือไม่ หรือหยุดหายใจจนปากเขียวหรือไม่ หรืออาจมีการหายใจทางปากตลอดเวลาจนใบหน้าผิดรูป หรือเด็กบางคนอาจจะมีลักษณะปัสสาวะรดที่นอนบ่อย หรือเด็กก็อาจตัวเล็ก อีกอย่างคือเวลาไปโรงเรียนแล้วคุณครูแจ้งมาว่าซนผิดปกติ, มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือการเรียนแย่ลง ก็ต้องเก็บข้อมูลมาให้ครบ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลให้คุณหมอวินิจฉัย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะซักประวัติจากพ่อแม่ก่อนที่จะให้ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง และประเมินภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ
ลูกนอนกรน รักษาอย่างไร?แพทย์ด้านคอหูจมูกจะทำการตรวจช่องคอ ดูต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ รวมทั้งตรวจจมูกว่ามีโครงร่างผิดปกติหรือไม่ โดยอาจจะต้องเอกซเรย์เพื่อประเมินภาวะที่อาจมีต่อมอะดีนอยด์มาขวางทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าพบว่าเป็นแบบนั้น ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออกทั้ง 2 ต่อม ซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีประมาณ 78 - 100%
ส่วนถ้าเด็กมีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น "ภูมิแพ้" ก็อาจรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกประมาณ 3 เดือน ให้ยาที่จะช่วยในเรื่องของการกรน พวกยารักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) อีกวิธีคือรักษาภาวะอักเสบติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนควบคู่ไปพร้อมกับรักษาโรคนอนกรน จึงจะทำให้ภาวะนอนกรนหยุดหายใจดีขึ้น
โรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็กเป็นโรคที่ใช่ว่าจะหายยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความสังเกตของพ่อแม่แล้วก็รักษาให้หายได้เพื่อไม่ให้เกิดภาวะนอนกรนแล้วหยุดหายใจ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็กและส่งผลถึงอนาคตที่ไม่ใช่แค่เพียงในแง่การเรียนเท่านั้น แต่อาจไปถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ถ้าไม่รีบรักษา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit