กรมวิชาการเกษตร ดาวกระจายลุยตรวจสารตกค้างผัก ผลไม้ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ปรับแผนปี 64 ตรวจเพิ่มครอบคลุมผัก ผลไม้ ไม่เข้ามาตรฐาน GAP และกลุ่ม PGS รวมกว่า 900 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบปลอดภัยตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขเกินครึ่ง ส่วนผลผลิตไม่ผ่านรุดแจ้งเตือนแหล่งจำหน่าย จี้หน่วยงานในพื้นที่เร่งตรวจสอบ หากพบไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานพักใช้ใบรับรอง พร้อมส่งสารวัตรเกษตรบุกร้านค้าหากพบลักลอบขายสารต้องห้ามจับดำเนินคดีทันที
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากแปลงและแหล่งจำหน่าย ซึ่งเป็นโครงการตรวจติดตามที่ทำต่อเนื่องทุกปี โดยเน้นสุ่มตรวจชนิดผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีการแจ้งเตือนตรวจพบสารตกค้างบ่อยครั้ง เช่น พริก ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเทศ คะน้า ผักกาดขาว ส้ม และฝรั่ง โดยในปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้ปรับแผนขยายขอบข่ายสุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผักผลไม้ครอบคลุมไปถึงผลผลิตที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และสินค้าที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) รวมทั้งยังสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่อาจมีการลักลอบใช้วัตถุอัตรายที่ห้ามใช้แล้วในประเทศด้วย
จากการดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 706 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์สารตกค้างพบเป็นไปตามมาตรฐาน 608 ตัวอย่าง โดยพืชที่ปลอดภัยไม่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ขึ้นฉ่าย คะน้า แตงกวา แครอท ชะอม ซาโยเต้ ยอดฟักแม้ว ซูกินี ตะไคร้ แตงโม ตำลึง ตั้งโอ๋ บวบ แมงลัก ผักกูด ผักปลัง ผักหวาน ฟักทอง มะระ มะละกอ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง โหระพา เห็ด กรีนโอ๊ค กระเจี๊ยบเขียว กระเจี้ยบแดง กะหล่ำดอก กุ่ยช่าย ข้าวโพดฝักสด ฝรั่ง มะขามหวาน มะม่วง สตรอเบอรี่ สับปะรด และส้มโอ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ได้แก่ พริก มะเขือเทศ ส้ม กวางตุ้ง กะเพรา กะหล่ำปลี กล้วย เซอรารี่ ต้นหอม ทุเรียน ฮ่องเต้ บล็อกโคลี่ ผักชี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอม ผักโขม ผักบุ้ง มะกรูด มะเขือ มะนาว หอมหัวใหญ่ แคนตาลูป สะระแหน่ ลำไย เสาวรส อะโวคาโด้ และองุ่น
สุ่มเก็บตัวอย่างพืชที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากศูนย์กระจายสินค้า ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า จำนวน 202 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์พบตัวอย่างพืชที่ผ่านเกณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 137 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 73 ตัวอย่าง ได้แก่ พริก ผักชี คะน้า กวางตุ้ง โหระพา แมงลัก ใบบัวบก มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วฝักยาว ถั่วหวาน ถั่วแขก หัวไชเท้า มะระ ส้ม แก้วมังกร ฝรั่ง กล้วย และพุทรา รวมทั้งพบสารตกค้างคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารที่ประเทศไทยห้ามใช้แล้ว จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ ส้ม (3 ตัวอย่าง) พริก (2 ตัวอย่าง) มะม่วง มะเขือเทศ ผักชีฝรั่ง ใบบัวบก โหระพา แมงลัก หัวไชเท้า ฝรั่ง และพุทรา
สุ่มเก็บตัวอย่างพืชในกลุ่มที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม ( PGS) จำนวน 38 ตัวอย่าง พบผ่านเกณฑ์เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 33 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ พริก โหระพา ขึ้นฉ่าย วอเตอร์เครส และแตงร้าน รวมทั้งพบสารตกค้างคลอร์ไพริฟอสจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ วอเตอร์เครส และแตงร้าน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะพบว่าผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน 86 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข 67 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม(PGS) ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 86 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของพืชที่พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตรได้แจ้งข้อมูลการตรวจพบให้แหล่งจำหน่ายได้ทราบ เพื่อทำการตรวจสอบและฝ้าระวังความปลอดภัยของสินค้าร่วมกัน ซึ่งในส่วนของผลผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าทวนสอบย้อนกลับเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากพบเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจะมีหนังสือแจ้งเตือนให้ทำการแก้ไขภายในกำหนด หากไม่แก้ไขจะสั่งพักใช้ใบรับรอง กรณีที่เกษตรกรใช้วัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ในประเทศจะแจ้งเตือนและให้ปรับปรุงระบบการผลิต หากแนวทางปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ผลและตรวจพบปัญหาซ้ำจะพักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช รวมทั้งได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรเข้าไปตรวจสอบร้านจำหน่ายสารเคมีในพื้นที่ที่มีการตรวจพบตัวอย่างสินค้าพืชที่พบสารตกค้างที่ห้ามใช้แล้วเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนที่จะบูรณาการปฏิบัติงานตรวจ ติดตาม และเฝ้าระวัง สารตกค้างในผักและผลไม้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเร็วๆ นี้ต่อไปด้วย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit