ม.มหิดล เชิญชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เยียวยาวิกฤติขาดแคลนเลือด ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด

07 May 2021

วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ "วันธาลัสซีเมียโลก" ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องด้วยเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์กันโดยเร่งด่วน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรายใหม่

ม.มหิดล เชิญชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เยียวยาวิกฤติขาดแคลนเลือด ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 3 ซึ่งว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าผู้มีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงเดือนธิดา ทรงเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยาภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียสามารถป้องกันได้อย่างยั่งยืนโดยการวางแผนการมีบุตร และเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ในบางรายอาจไม่แสดงอาการแต่เป็นพาหะทำให้เกิดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่บุตรหลานได้

แม้มีลูกป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย หากสอนลูกให้รู้จักวิธีการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ เข้ารับการรักษาติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ขาดการเข้ารับการถ่ายเลือด และรับประทานยาขับเหล็กตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้

เรื่องการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ พวกเนื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อวัว ตับ หรือเครื่องในสัตว์ ฯลฯ นอกจากนี้ ควรจะรับประทานอาหารเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นความสุก และสะอาด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19

ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีโอกาสติดเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นเดียวกับประชากรทั่วไปที่แข็งแรงดี อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียติดเชื้อไวรัส COVID-19 อาจมีไข้สูง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และต้องได้รับการถ่ายเลือดก่อนกำหนด นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ตัดม้ามแล้ว มีธาตุเหล็กสะสมสูงมาก หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่นเบาหวาน เส้นเลือดอุดตัน เมื่อติดเชื้อไวรัส COVID-19 อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนมากกว่าคนปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับการถ่ายเลือด และรับประทานยาขับเหล็กอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสCOVID-19 และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเร็วที่สุดเมื่อมีโอกาส

ด้วยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียของโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตามที่แพทย์นัดลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดตามการรักษา โดยทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการแก้ไขปัญหาโดยการติดต่อประสานให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาไกลถึงโรงพยาบาลรามาธิบดีนอกจากนี้ได้มีการเพิ่มจำนวนการจ่ายยาเพื่อให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียสามารถรับประทานยาได้นานขึ้น จาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน สำหรับการจัดลำดับการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ได้มีการนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ และนัดให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจรักษาในคราวละจำนวนไม่มาก เพื่อลดความแออัด นอกจากนี้ ยังได้มีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเพื่อให้รู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัส COVID-19

ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดลค้นคว้าหายาที่สามารถเพิ่มการสร้างฮีโมโกลบินเอฟ (Hb F) ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียมีอาการน้อยลง และต้องถ่ายเลือดน้อยลง รวมถึงการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการตัดต่อยีนที่สามารถทำได้ทั้งกระบวนการในประเทศไทย ซึ่งการค้นคว้ายาชนิดใหม่ และการตัดต่อยีนดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย คาดว่าจะพร้อมนำมารักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า

โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะต้องถ่ายเลือดทุก 3 - 4 สัปดาห์เป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถติดต่อทางการถ่ายเลือดได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงวิกฤติCOVID-19 มีจำนวนผู้บริจาคโลหิตน้อยลง ทำให้เลือดขาดแคลนจนทำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียต้องเลื่อนกำหนดการเข้ารับการถ่ายเลือดออกไป

เพื่อเยียวยาภาวะการขาดแคลนเลือดในช่วงวิกฤติ COVID-19 ขอเชิญชวนบริจาคโลหิตสำหรับผู้ที่มีอายุ 17 - 70 ปี น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไปซึ่งมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ไม่อยู่ระหว่างการรับประทานยารักษาโรค หรือยาปฏิชีวนะ โดยควรรับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิต งดเว้นอาหารจำพวกที่มีไขมันสูง รวมทั้งงดสูบบุหรี่ก่อนการบริจาคโลหิต นอกจากนี้ ตามประกาศของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้แนะนำให้ผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 รอดูอาการข้างเคียงก่อนมาบริจาคโลหิต

สำหรับที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ สามารถติดต่อบริจาคโลหิต ได้ทั้งที่ ห้องรับบริจาคโลหิต อาคาร 1 ชั้น 2 และที่ห้องรับบริจาคโลหิต อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 ทุกวัน เวลา08.30 - 12.00 น. และเวลา 13.00 - 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2201-1229, 0-2201-1219 (ห้องรับบริจาคโลหิต อาคาร1 ชั้น 2) และโทร. 0-2200-4208 (ห้องรับบริจาคโลหิต อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3)

หนึ่งผู้ให้ สามารถส่งผลแห่งความสุข นอกจากแก่ตัวผู้ให้เองแล้ว ยังส่งผลแห่งความสุขต่อตัวผู้รับ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงต่อผู้ป่วยเท่านั้น ยังหมายถึงชีวิตครอบครัว และผู้ที่ผู้ป่วยรัก ซึ่งกำลังรอคอยความช่วยเหลือด้วยความหวังที่จะเห็นผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปอีกด้วย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

ม.มหิดล เชิญชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เยียวยาวิกฤติขาดแคลนเลือด ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด