ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง วว. เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย บริการ วทน. ครบวงจร วิเคราะห์ทดสอบระบบรางรถไฟ/ส่วนเชื่อมต่อการขนส่ง คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี

20 May 2021

"รัฐบาล" ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาไปสู่ระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ทั้งนี้การพัฒนาระบบรางได้ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12   ซึ่งมีทั้งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและเพื่อนบ้าน  โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟตามแผนการลงทุนเร่งด่วนเพื่อพัฒนาให้ระบบรถไฟเป็นระบบหลักในการขนส่งสินค้า รวมไปถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าหลากสี  โครงการระบบรถไฟทางคู่  โครงการรถไฟฟ้ารางเบา  และการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย เป็นต้น

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง วว. เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย บริการ วทน. ครบวงจร วิเคราะห์ทดสอบระบบรางรถไฟ/ส่วนเชื่อมต่อการขนส่ง คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนโยบายการขนส่งระบบรางของภาครัฐ ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดคือ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง หรือ ศทร. โดยมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทดสอบและรับรองวัสดุ/ผลิตภัณฑ์ ใน โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟของกระทรวงคมนาคม มากกว่า 40 โครงการทั่วประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการรถไฟรางคู่ โครงการเสริมความมั่นคงโครงสร้างทาง โครงการปรับปรุงเส้นทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ เป็นตัน

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศทร. วว. มีความพร้อมในการเป็นหน่วยงานสนับสนุนวิจัยและพัฒนา ด้านการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ของระบบขนส่งทางราง ให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล ครอบคลุมรถไฟทุกระบบ ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ารางเบา และรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งรองรับเทคโนโลยีระบบรางได้ทุกค่าย อาทิเช่น ระบบรถไฟของประเทศจีน ญี่ปุ่น และค่ายอื่นๆ เช่น เยอรมนี เกาหลี เป็นต้น

ในด้านการบำรุงรักษาระบบรางนั้น ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบำรุงรักษาระบบขนส่งทางรางให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย เช่น เทคโนโลยีการบำรุงรักษาระบบรางแบบอัจฉริยะ (Smart Railway Maintenance) การติดตามและเฝ้าระวังสถานะของการใช้งานระบบรางและตัวรถได้แบบทันทีทันใด ลดการเสียโอกาสในการให้บริการ ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง  มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการทดสอบรับรองคุณภาพความปลอดภัยวัสดุผลิตภัณฑ์ระบบราง ให้แก่โครงการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย อาทิ  1.โครงการรถไฟฟ้สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี  2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต / บางซื่อ-ตะลิ่งชัน 3.โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ช่วงมาบกะเบา-จิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร  4.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย MRTA 5.งานเสริมความมั่นคงโครงสร้างทาง ระหว่างสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา  ชุมทางคลองสิบเก้าในทางรถไฟสายตะวันออก 6.งานจ้างก่อสร้างปรับปรุงพื้นทางในพื้นที่แขวงบำรุงฉะเชิงเทรา 7.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา  8.โครงการก่อสร้างบ่อพักและร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  9.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ และ 10.โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ช่วง Red Lind-ROOM TVM : BTS เป็นต้น

นอกจากนี้ ศทร. ยังมีความพร้อมให้บริการทดสอบรับรองผลิตภัณฑ์ทางระบบราง เช่น 1.ทดสอบหมอนคอนกรีต (Mono block concrete sleeper) ตามมาตรฐาน BS EN 13230-2  2.การทดสอบหมอนประแจ (Concrete bearer)  ตามมาตรฐาน BS EN 13230-4  3.การทดสอบเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Fastening system)  ตามมาตรฐาน  BS EN 13481  4.การทดสอบรอยเชื่อมรางแบบชนวาบ  (Flash butt welding)  ตามมาตรฐาน  BS EN 14587  5.การทดสอบรอยเชื่อมรางแบบอลูมิโนเทอร์มิก  (Aluminothermic  welding) ตามมาตรฐาน  BS EN 14730 6. การทดสอบประกับราง (Insulated Rail Joint : IRJ) ตามมาตรฐาน AREMA และ AS 1085 เป็นต้น

 นอกจาก ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง วว. จะให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมด้านระบบรางแล้วยังให้บริการทดสอบในส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนน และทางน้ำ หรือ การขนส่งหลายรูปแบบ (Multi-modal transport) อีกด้วย เช่น รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยการทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในระบบขนส่งและโลจิสติกส์อีกด้วย

ในการทดสอบรับรองคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยทางระบบรางนั้น ศทร. วว. ดำเนินการตามข้อกำหนดทางเทคนิคของสัญญาจ้าง (TOR) และมาตรฐานสากล เช่น ISO, EN, AS, UIC, AAR , AREMA ฯลฯ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนงานทางและชิ้นส่วนล้อเลื่อน เช่น หมอนคอนกรีต รางและข้อต่อราง เครื่องยึดเหนี่ยวราง  ชิ้นส่วนระบบอาณัติสัญญาณ  โครงสร้างเสาจ่ายไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟเหนือตัวรถ  ชิ้นส่วนระบบเบรก แคร่ล้อ  ตู้รถไฟ เป็นต้น ตลอดจนให้บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรมแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟในประเทศอีกด้วย

"...การให้บริการทดสอบของศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางรางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี นับได้ว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐให้ผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแกร่ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการดำเนินงานด้าน วทน. ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางกว่า  1.5  ล้านล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมของไทยระยะ 20 ปี ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างมหาศาล..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการขอรับบริการจาก ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง วว. ได้ที่ โทร.0 2577 9000 , 02577 9143  ต่อ  201  และ  304   E-mail : [email protected]    https://www.tistr.or.th/rttc/   Facebook Page  : https://www.facebook.com/RTTC.TISTR

 

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง วว. เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย บริการ วทน. ครบวงจร วิเคราะห์ทดสอบระบบรางรถไฟ/ส่วนเชื่อมต่อการขนส่ง คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี