การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ส่งผลถึงการตัดสินใจศึกษาต่อต่างประเทศของคนไทยให้ชะลอตัวลง หลายคนที่มีความฝันอยากศึกษาต่อต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจ ด้วยข้อจำกัดของการเดินทางข้ามประเทศ และการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนสู่รูปแบบออนไลน์ ทั้งที่โดยปกติในแต่ละปีมีจำนวนผู้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักสูงกว่าปีละ 15,000 คน ด้วยเหตุผลหลากหลายปัจจัย หนึ่งในเหตุผลหลักก็คือความต้องการแสวงหามหาวิทยาลัย และสาขาวิชาที่มีชื่อเสียงเฉพาะด้านติดอันดับโลกซึ่งโดยส่วนใหญ่มักอยู่ในแถบยุโรป และอเมริกา แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเดินทางข้ามประเทศที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงอนาคตการศึกษาไทยที่ต้องจับตามองในระยะยาวสะท้อนให้เห็นว่า จะดีแค่ไหนหากคนไทยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แต่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไทยซึ่งมีชื่อเสียงติดอันดับโลกได้? ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทยและสหราชอาณาจักรที่กำลังจะเกิดขึ้น
"โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร" หรือ "Thai-UK World-class University Consortium" เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างบริติช เคานซิล และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) ผ่านการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างกลไกและสนับสนุนความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาไทยในด้านการเรียนการสอน การวิจัย ระบบโครงสร้างและการบริหารงาน และระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในด้านต่าง ๆ ผ่านการพัฒนากำลังคนและการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญร่วมกับสหราชอาณาจักร โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมีส่วนผลักดันความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไทยไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 100 อันดับแรกและได้รับการยอมรับในสถานะการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกตามยุทธศาสตร์ "ยกระดับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย" ของประเทศไทย
ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 11 ล้านคนที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี และจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2578 ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเดินหน้าโครงสร้างในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการพัฒนาโครงการด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในหนทางการสร้างสังคมที่ดีและมีประสิทธิผล สืบเนื่องจากความต้องการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2564-65 กระทรวง อว. เตรียมเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือ 'โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร' (Thai-UK World-class University Consortium) เพื่อยกระดับมมหาวิทยาลัย โดยการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกของไทยและสหราชอาณาจักรขึ้น ในรูปแบบโครงการพัฒนาศักยภาพและการประสานให้เกิดความร่วมมือในขั้นต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร โดยรูปแบบของความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร โครงการวิจัยร่วม โครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก โครงการอบรมนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรม เสริมสร้างคุณภาพงานวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี
ศ.ดร. ศุภชัย กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงบทบาทของสหราชอาณาจักร ในฐานะประเทศที่ได้รับการยอมรับในด้านของการมีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกและงานวิจัยชั้นนำมากมาย โดยสหราชอาณาจักรมีมหาวิทยาลัยชั้นนำ 200 อันดับแรกของโลกมากกว่า 20 มหาวิทยาลัย (ที่มา Times Higher Education World university Ranking 2021) ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อิมพีเรียลคอลเลจ และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ดังนั้น สหราชอาณาจักรจึงนับเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย ผ่านการผนึกกำลังการทำงานในรูปแบบของ "จตุรภาคี" (Quadruple Helix) ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และพันธมิตรระหว่างประเทศ
"โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร' (Thai-UK World-class University Consortium) จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมและยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยไปสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก โดยผนวกความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม โดยเป้าหมายหลักของเรา คือ อยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่ 100 อันดับแรกของโลกให้ได้ภายใน 5-10 ปี" ศ.ดร. ศุภชัย กล่าว
ด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อการสนับสนุนความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ตั้งเป้าสนับสนุนยุทธศาสตร์ 'พลิกโฉมมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย' ของกระทรวง อว. ผ่านการเปิดตัว 'โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร' (Thai-UK World-class University Consortium) เพื่อผลักดันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยสู่ความเป็นสากลผ่านการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ สร้างความเป็นเลิศทางการเรียนการสอน สร้างความร่วมมือในสาขาวิชา และสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร
นางเฮลก้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร (Thai-UK World-class University Consortium) จะได้รับโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนและบุคลากร โครงการวิจัยร่วม การศึกษาข้ามชาติ หรือการพัฒนาวิชาชีพ โดยเรามุ่งมั่นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใน 8 สาขาวิชาเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ได้แก่ สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ วิศวกรรมเคมี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ การเกษตรและป่าไม้ การแพทย์ ภูมิศาสตร์ หลักสูตรพัฒนศึกษา และรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
"เราอยากเชิญชวนมหาวิทยาลัยในไทยและสหราชอาณาจักรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือ 'โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร' (Thai-UK World-class University Consortium) เนื่องจากความร่วมมือนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคอุดมศึกษาของไทยและสหราชอาณาจักรได้สร้างพันธมิตรทางการศึกษาที่แข็งแกร่ง ได้แบ่งปันแนวทางการทำงานที่เป็นประโยชน์ และบทเรียนเรียนที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การยกระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มีความเข้มแข็ง ครอบคลุมยิ่งขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงกันทั่วโลก" นางเฮลก้า กล่าวทิ้งท้าย
สามารถติดตามรายละเอียดมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่เข้าร่วม 'โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร' (Thai-UK World-class University Consortium) ได้เร็ว ๆ นี้ ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุดมศึกษาได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand
เกี่ยวกับบริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit