กรมป่าไม้ (ประเทศไทย) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งสวีเดน (Swedish University of Agricultural Sciences) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ป่าไม้ที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน:ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม (Workshop on Sustainable Forestry for the People:Economic benefits and environmental concerns) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ video conference โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) กล่าวเปิดการประชุม
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศไทยและสวีเดน ปี ค.ศ. 2021 "จากการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่โอกาสทางธุรกิจ" Thailand and Sweden Sustainable Development Forum 2021 "From Green and Inclusive Development to Business Opportunities" เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสวีเดน ในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน (2) ระบบป่าไม้ที่ยั่งยืน และ (3) ระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมวัตกรรมและสตาร์ทอัพในรูปแบบที่ยั่งยืน
การประชุมดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวเน้นย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสวีเดน รวมถึงระบบการป่าไม้ที่ก้าวหน้าและยั่งยืนของประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงความร่วมมือในอนาคต ทั้งในด้านของการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคป่าไม้ และการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรป่าไม้ของไทย ผ่านองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการจัดการป่าไม้ของสวีเดน รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างกรมป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านป่าไม้ของไทยและของสวีเดน ซึ่งมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนทั่วไปกว่า 300 คน ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ (นายอดิศร นุชดำรงค์) ได้บรรยายในหัวข้อ นโยบายป่าไม้และความท้าทาย ครอบคลุมสถานการณ์ป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องด้านการป่าไม้ ทั้งนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ และนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 รวมทั้งได้นำเสนอการดำเนินงานทางด้านการป่าไม้ของประเทศไทย ที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการป้องกันไฟป่า ผ่านระบบ Smart Patrol, การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจภาคป่าไม้ เช่น การแก้ไขมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ เป็นต้น การตรวจสอบและการรับรองความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ เพื่อเป็นกลไกในการยับยั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ผ่านการจัดการป่าชุมชน การจัดการที่ดิน ตามแนวทางของ คทช. เป็นต้น
นอกจากนี้ มีผู้แทนจากประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด เข้าร่วมการเสวนา ในหัวข้อประชาชนและบริษัทเอกชน (Peoples and Private Companies) ซึ่งมีประเด็นการเสวนา ถิ่นที่อยู่อาศัย / การเสริมสร้างวนกรเพื่อการป่าไม้ที่ยั่งยืน / ป่าไม้เพื่อธุรกิจ และนวัตกรรมการป่าไม้ (local inhabitants/foresters empowerment for sustainable forestry, forest for business, and innovation in forestry)