สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต

11 Aug 2021
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน ให้รีบไปพบแพทย์โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พบมากในช่วงฤดูฝน (ตุลาคม - ธันวาคม) โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อจะมี อาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ คล้ายป่วยเป็นไข้ บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค อาการสำคัญคือ ติดเชื้อใน กระแสเลือดทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ทำความรู้จักโรคเมลิออยโดสิส เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรค เมลิออยโดสิส ในเขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลจาก รง.506 กองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2564 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดสงขลา) สูงสุดในจังหวัดพัทลุง จำนวน 7 ราย, จังหวัดสงขลา จำนวน 4 ราย และจังหวัดปัตตานี จำนวน 1 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 4 ราย กลุ่มอายุ ที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55 - 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 50 รองลงมาคือ อาชีพงานบ้าน และอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 16.67 และ จากการสำรวจข้อมูลความรู้และพฤติกรรมของผู้ป่วยคลินิกโรคเบาหวานของโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลา (6 โรงพยาบาล) จำนวน 144 คน ช่วงเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนที่ตอบแบบสำรวจ ไม่เคยได้ยินชื่อโรคเมลิออยโดสิส และไม่รับรู้ถึงโอกาสเสี่ยง ความรุนแรงของโรคเมลิออยโดสิส เช่น ร้อยละ 90.28 ไม่ทราบว่าโรคเมลิออยโดสิส ถ้าป่วยทำให้เสียชีวิตได้, ร้อยละ 77.78 ไม่ทราบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาการของโรคมีความรุนแรงกว่าคนปกติ ส่วนด้านการปฏิบัติตัว พบว่ามีการปฏิบัติตัวถูกต้องค่อนข้างต่ำ เช่น ขณะทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิน ไม่สวมถุงมือ ร้อยละ 43.75, ไม่ใช้ผ้าปิดจมูก ขณะทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิน ร้อยละ 47.22

สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ?

HTML::image(