สำนักประชาสัมพันธ์เขตเทียนหยาง เปิดเผยว่า การประชุมอุตสาหกรรมมะม่วงจีนครั้งแรกได้จัดขึ้นที่เมืองไป่เซ่อ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยในการประชุมดังกล่าว เขตเทียนหยางและบริษัท Guangzhou Pilot Food Investment Co., Ltd. ได้ลงนามข้อตกลงโครงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากผลไม้อย่างครอบคลุมในเขตเทียนหยาง เมืองไป่เซ่อ (ระยะที่ 2) ด้วยเงินลงทุนรวม 500 ล้านหยวน
เขตเทียนหยาง ในเมืองไป่เซ่อ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแห่งแรกในประเทศจีน ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมกึ่งเขตร้อนที่มีฤดูหนาวอันอบอุ่น ฤดูร้อนที่ยาวนาน และมีแสงอาทิตย์มาก เขตเทียนหยางจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "เรือนกระจกธรรมชาติ" ที่เหมาะสำหรับการปลูกผักและผลไม้จำนวนมาก เขตเทียนหยางอาศัยสภาพภูมิอากาศที่โดดเด่นนี้ในการพัฒนาสองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การปลูกมะม่วงและมะเขือเทศ โดยมะม่วงสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี ส่วนมะเขือเทศสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของปีถัดไป ทั้งนี้ มะม่วงและมะเขือเทศช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 เขตเทียนหยางมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 408,000 หมู่ (mu) และมีผลผลิต 280,000 ตัน ส่วนพื้นที่ปลูกผักซึ่งมีมะเขือเทศเป็นหลักอยู่ที่ 398,000 หมู่ (mu) และมีผลผลิต 875,800 ตัน ส่งผลให้มะม่วงและมะเขือเทศกลายเป็นสองอุตสาหกรรมหลักประจำเขต
ขณะนี้ถือเป็นฤดูที่ดีที่สุดของมะม่วงเทียนหยาง โดยมะม่วงกำลังเป็นสินค้าขายดีในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดประจำเขตเทียนหยาง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม โดยเน้นการขายส่ง การซื้อขายผ่านตัวแทน การซื้อขายร่วมกัน รวมถึงการจัดเก็บและขนส่งผักผลไม้โดยตัวแทน ตลาดแห่งนี้มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2,000 ตัน และปริมาณการซื้อขายสูงสุดต่อวันคือ 5,000 ตัน ขณะที่ปริมาณการซื้อขายรวมต่อปีอยู่ที่ 700,000 ตัน และมีมูลค่าการซื้อขายทะลุ 1.6 พันล้านหยวน โดยสินค้าถูกจำหน่ายให้กับเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 230 แห่งในจีน เวียดนาม รัสเซีย ฮ่องกง ฯลฯ นับเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งผักจากใต้สู่เหนือ นอกจากนั้นยังเป็น "Fresh Agricultural Products Center Wholesale Market" ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตร รวมถึงเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรในโครงการ "Double Hundred Market Project" ของกระทรวงพาณิชย์ และเป็นองค์กรชั้นนำที่สำคัญของสหกรณ์อุปทานและการตลาดของจีน
เนื่องจากอีคอมเมิร์ซกำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เขตเทียนหยางจึงพึ่งพาเครือข่ายอีคอมเมิร์ซและก่อตั้งบริษัท Tianyang Ganjie E-commerce Co., Ltd. รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มบริการอีคอมเมิร์ซ "Commercial County" และก่อตั้ง "Tianyang Characteristic Market" นอกจากนั้นยังสนับสนุนการสร้าง Alibaba Baise Industrial Belt, Taobao Baise Market และธุรกิจ WeChat ตลอดจนปรับปรุงระบบโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 เขตเทียนหยางมียอดขายมะม่วงออนไลน์ผ่าน Taobao, JD, Tmall, PDD และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ทะลุ 10 ล้านคำสั่งซื้อ กวาดรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน และนับตั้งแต่มะม่วงออกสู่ตลาดในปี 2564 มีการจัดส่งมะม่วงตามคำสั่งซื้อผ่านเครือข่ายอีคอมเมิร์ซมากกว่า 10,000 รายการต่อวัน คิดเป็นยอดขายต่อวันเกือบ 1 ล้านหยวน
ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์เขตเทียนหยาง
ลิงก์รูปภาพ:
รูปภาพ: http://asianetnews.net/view-attachment?attach-id=397842
คำบรรยายภาพ: อุตสาหกรรมการปลูก "มะม่วงและมะเขือเทศ" สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เขตเทียนหยางของจีน
AsiaNet 91017
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit