สร้างความฮือฮาผงาดบนเวทีระดับนานาชาติ เดลต้าคัพ 2021 (Delta Cup) โดยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในชื่อทีม คาลามารี (Calamari) จากประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ Grand Prize ด้วยผลงานนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ Flood Prevention Protocol ที่น่าทึ่ง ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก 546 ทีม จาก 200 มหาวิทยาลัย ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ทีม คาลามารี (Calamari) จากประเทศไทย นำโดย รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมด้วยทีมนักศึกษามหิดล 22 คน ได้แก่ สุเมธ กล่อมจิตเจริญ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ ชอน กัลอัพ จิน ตั้งกิจงามวงศ์ ภัครมัย คูหาชัยสกุล ธัญชนก ตั้งวัฒนศิริกุล พัฒน์ งามเดชากิจ ธัญธร สุกสอาด สาริน นิพัทธ์วรสกุล ธนารีย์ ไหนาค วิทวัส สุดทวี ธัญพล มาประดิษฐ์ สพล มาสุข ศศินิภา สุขโชติ นพวุฒิ ละออง พิสิฐชัย เตชะวิเศษ อภิชญา จินพล เบญจมาศ จิระปัญญาเลิศ อะบิคยัด ไปรสัย วิศรุต อนรรฆมงคล สุทธิศักดิ์ จันทร์อารักษ์ และซาฮัน ชนุกา บันดารา
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาทีม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกวันนี้และอนาคต ระบบอัตโนมัติและ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในชีวิตประจำวัน การทำงาน การแพทย์และสุขภาพ คมนาคมขนส่ง จนถึงการบริหารจัดการเมือง สำหรับงานแข่งขัน เดลต้าคัพ 2021 จัดโดย เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศจีน และสมาคมเทคโนโลยีอัตโนมัติแห่งประเทศจีน (CAA) ภายใต้ธีม Seeking Smart Industrial Internet of Things (IIoT) Talents ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่และความคิดสร้างสรรค์ด้านพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ โซลูชั่นการผลิตอัจฉริยะและแอปพลิเคชั่นเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแข่งขันมี 3 ประเภทคือ Innovative Machines, Smart Factory และ Better Future Living แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติจากโควิด-19 แต่ เดลต้าคัพ 2021 ปีนี้ยิ่งใหญ่คึกคักด้วยการประชันผลงานนวัตกรรมระบบอัตโนมัติของนวัตกรคนรุ่นใหม่จาก 200 มหาวิทยาลัย ผลการแข่งขันนำความภาคภูมิใจสู่คนไทยทุกคนโดยนับเป็นครั้งแรกที่ทีมจากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Grand Prize โดยทีม Calamari มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงาน "ระบบป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ (Flood Prevention Protocol)" ที่ออกแบบจากแนวคิด Smart IIoT For Better Future Living
ชอน กัลอัพ หัวหน้าทีมคาลามารี (Calamari) นักศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์ปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงที่มาและนวัตกรรมว่า ที่ผ่านมาความเสียหายจากภัยธรรมชาติในประเทศไทยนั้น อุทกภัยได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และในบางพื้นที่ เช่น รามคำแหง บางกะปิ สุขุมวิท อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร กรุงเทพมหานครของเราจึงประสบปัญหาน้ำท่วมมาทุกปี ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมโดยการใช้ประตูน้ำ 100 แห่งทั่ว กทม. แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการน้ำท่วมได้ เนื่องจากประตูน้ำแต่ละบานเปิด-ปิด โดยใช้คน ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงน้ำทุกส่วน วิธีการล่าช้า ขาดการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมดูแลระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความแม่นยำด้วยข้อมูลที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัย ทีม คาลามารี (Calamari) ได้คิดค้นและออกแบบนวัตกรรม"ระบบป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ (Flood Prevention Protocol)"ซึงเป็นระบบระบายน้ำอัตโนมัติที่ผสานรวมกับเทคโนโลยี AI อัจฉริยะ มีเครือข่ายระบบเซนเซอร์เก็บข้อมูลน้ำจากประตูน้ำทั่ว กทม.ทั้ง 100 แห่ง และประมวลผลด้วยคลาวด์ คอมพิวติ้ง ระบบสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำ ความน่าจะเป็นใน 1 ชม. ข้างหน้า ทำ Flow Rate Mapping กำหนดเส้นทางการไหลของน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม จนถึงควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำอย่างสอดคล้องกับสถานะการณ์จริง อีกทั้งแสดงข้อมูลจากเครือข่ายเซนเซอร์ มอเตอร์ และการไหลของน้ำทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ศูนย์ควบคุม SCADA หรือระบบมอนิเตอร์แสดงสถานะของแต่ละประตูน้ำและเห็นภาพรวมได้อีกด้วย นับเป็นการรวมระบบการตัดสินใจการควบคุมประตูน้ำทั้ง 100 แห่งด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้าไปซึ่งจะช่วยพัฒนายกระดับให้เป็นระบบเปิด-ปิดประตูน้ำอัจฉริยะ
สุเมธ กล่อมจิตเจริญ นักศึกษา ป.โท และณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของนวัตกรรม "ระบบป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ (Flood Prevention Protocol)" ก้าวหน้าด้วยความอัจฉริยะโดยเราทำ Machine Learning ฝึกเอ.ไอ.ให้เรียนรู้การคำนวณ ประมวลวิเคราะห์จากข้อมูลน้ำทั้งหมดในพื้นที่ ประเมินผล และคาดการณ์อนาคต (Event Prediction) โดยจะใช้ข้อมูลจากระดับน้ำ อัตราการไหล และอื่นๆ จากนั้นจึงเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำแต่ละบานโดยอัตโนมัติด้วยระบบอัจฉริยะ ทั้งนี้ โซลูชันที่นำมาใช้นี้จะช่วยประหยัดทรัพยากรมนุษย์ ประหยัดเวลา ทำให้มีความแม่นยำ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสามารถตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพน้ำในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เตือนภัยและสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ช่วยลดความเสียหายและการสูญเสียชีวิตของประชาชนตลอดจนเกษตรกรจะได้รับจากน้ำท่วม
ในการทำงานครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากพลังของทีมงานทุกคนที่ต่างก็เชี่ยวชาญในแต่ละด้านได้มาหลอมรวม ค้นคว้าและต่อยอดองค์ความรู้ทั้งด้าน Software และ Hardware การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงเทคนิค นำเสนอในการแข่งระดับโลกเป็นครั้งแรกในชีวิตและประสบผลสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ทั้งเป็นโอกาสให้ทีมไทยได้เห็นไอเดียใหม่ๆที่น่าสนใจมากมายของทีมต่างประเทศอีกด้วย
นับเป็นอีกพลังบวกของคนรุ่นใหม่ ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย...ตอบโจทย์แก้ปัญหาในสังคม ให้เมืองปลอดภัยน่าอยู่และโลกของเรายั่งยืน