กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "A Shared Responsibility Project Breastfeeding : ร่วมมือร่วมพลัง ปกป้องสังคมนมแม่" พร้อมตั้งเป้าหมาย ปี 2568 ทารก ร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน
วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "A Shared Responsibility Project Breastfeeding : ร่วมมือร่วมพลัง ปกป้องสังคมนมแม่" ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า นานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 (MICS 6) พบว่ามีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และยังมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันสนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็กเพื่ออนาคตของประเทศไทย
"กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่าในปี 2568 ทารก ร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด-19 ยิ่งทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้นจากความสมบูรณ์ของสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันโรค และแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในทุกสถานการณ์ โดยก่อนการให้นมลูกทุกครั้งควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านม และหัวนมและล้างมือด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนให้นม รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ให้นมบุตร แม้แต่ในกรณีที่แม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก็ยังคงสามารถให้นมลูกได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องมีการป้องกัน การแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปากรวมถึงการหอมแก้มลูก
"ทั้งนี้ ควรให้คุณแม่และครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากคุณแม่ไม่สะดวกที่จะให้นมจากเต้า แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน โดยผู้ช่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะในการให้นมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำงดให้นมบุตร และอาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อนเพื่อให้แม่คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ แม่หลังคลอดให้นมลูก ควรไปฉีดวัคซิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ลอร่า ศศิธร วัฒนกุล กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและผู้ดำเนินรายการในการเสวนาครั้งนี้ได้กล่าวสรุปการเสวนา "การให้นมแม่ เราไม่สามารถทำได้สำเร็จด้วยตนเอง ต้องให้คนรอบข้างร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นสามี ปู่ ย่า ตา ยาย คุณหมอ พยาบาล อสม. รวมถึงผู้ร่วมงานและบริษัทที่ตนทำงาน ตามสำนวนที่กล่าวว่า 'It take a village to raise a child' เพราะทุกท่านมีความสำคัญในการสร้างเด็กคนหนึ่งขึ้นมา"
HTML::image(