กฟก. จัดเต็มเพื่อเกษตรกร ปี 64 อนุมัติเงินกู้ฟื้นฟูอาชีพแล้ว 576 โครงการ รวมกว่า 300 ล้าน

02 Aug 2021

นายประยงค์  อัฒจักร  ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ( กฟก.) เปิดเผยว่า การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยให้เกษตรกรสมาชิกรวมกลุ่มยื่นเสนอแผนและโครงการของบประมาณ เพื่อใช้พัฒนาอาชีพทางการเกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรสมาชิก ทั้งกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และบุคคลค้ำประกัน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่กองทุนฟื้นฟูฯได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯมาในปี 2542 สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ได้มีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ที่ผ่านความเห็นชอบ 576 โครงการ จาก 576  กลุ่มองค์กร รวมสินเชื่อที่ให้การสนับสนุนในลักษณะปลอดดอกเบี้ยประมาณ 300 กว่าล้านบาท โดยในโครงการที่ผ่านการเห็นชอบจะเป็นอาชีพด้านการเกษตร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ประมง รวมไปถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น การ เลี้ยงปูนา การเลี้ยงหนูนา เป็นต้น

กฟก. จัดเต็มเพื่อเกษตรกร ปี 64 อนุมัติเงินกู้ฟื้นฟูอาชีพแล้ว 576 โครงการ รวมกว่า 300 ล้าน

" การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพนั้น ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรสมาชิกทุกคนจะได้รับ และกองทุนฟื้นฟูฯมีหน้าที่จะที่ดำเนินการสนับสนุน โดยเฉพาะในด้านของการให้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนดำเนินการ ขอเพียงให้มีการเสนอโครงการผ่านองค์กรเกษตรกรขึ้นมาตามขั้นตอนที่กำหนด การเข้าไปช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอาชีพ ฟื้นฟูรายได้ เป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ดำเนินการมาเพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ เอา อิสรภาพของเกษตรกรกลับมาให้ได้มากที่สุด"

นายประยงค์   กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ที่มีประชาชนได้ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก กองทุนฟื้นฟูฯ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯและขอรับการสนับสนุนด้านฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ สามารถทำได้ 2 ทางคือ หนึ่ง การรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และมีการประกอบอาชีพเกษตรร่วมกัน จากนั้นมาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ และสอง การไปสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มในองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วและตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่เกษตรกรอยู่ ซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรนั้นๆ แล้วจะถือเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูได้โดยอัตโนมัติ"

" สำหรับในด้านของการตลาด แม้ในกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ จะไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องดำเนินการหรือไม่ แต่ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้มีการเข้าไปช่วยประสานและหาช่องทางการตลาด เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเกษตรผู้ผลิต และพ่อค้า เช่น ขณะนี้ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ภายใต้นโยบาย "กองทุนฟื้นฟูผลิต พาณิชย์ตลาด"  อันจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภายใต้กรอบคิดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าในยุคดิจิทัล ที่มีการค้าขายในระบบออนไลน์ การสร้างแบรนด์สินค้าให้มีความน่าสนใจจึงมีความจำเป็นในการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร" นายประยงค์  กล่าวในที่สุด

HTML::image(