กองทุนฟื้นฟูฯ ย้ำระเบียบแก้หนี้ กรณีบุคคลค้ำประกัน ปี 63 เกษตรกรสมาชิกได้ประโยชน์เต็ม

04 Aug 2021

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. เปิดเผยว่า จากที่มีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะส่งผลให้การดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นไปด้วยความคล่องตัว โดยเฉพาะกรณีแก้ปัญหาหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน และได้นำมาสู่การออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่าด้วยการจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกันพ.ศ. 2563  ที่ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจในการเข้าไปแก้ไขหนี้ที่เกิดจากอาชีพการเกษตรด้วยการกู้ยืมโดยใช้บุคคลค้ำประกัน จากสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ ธกส. ธนาคารพาณิชย์ และนิติบุคคล รวมทั้งธนาคารของรัฐ เป็นต้น

กองทุนฟื้นฟูฯ ย้ำระเบียบแก้หนี้ กรณีบุคคลค้ำประกัน ปี 63 เกษตรกรสมาชิกได้ประโยชน์เต็ม

" ทั้งนี้ตามกฎหมายเดิมนั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯจัดการได้เฉพาะหนี้ที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน  พอรัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงได้ผลักดันให้แก้กฎหมายจนสำเร็จ และส่งผลให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้บุคคลค้ำประกันได้ ดังนั้นจึงขอฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรว่า อย่าปล่อยให้ปัญหาหนี้ลุกลามจนถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลาย หรือถูกฟ้องดำเนินคดีบังคับคดีขายทอดตลาด เมื่อมีปัญหาหนี้สินขอให้พี่น้องเกษตรกรเดินเข้ามาปรึกษา กองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมให้คำปรึกษาหาทางออก เพื่อให้ทุกคนสามารถรักษาที่ดินทำกินให้กับลูกหลานไว้ต่อไป "

ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า การเข้าไปจัดการหนี้ให้พี่น้องเกษตรกรตามระเบียบฯ กรณีหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกันพ.ศ. 2563   ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และ ต้องมีบุคคลมาค้ำประกันซึ่งแบ่งเป็น หนึ่ง หนี้เงินต้นคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท ให้องค์กรเกษตรกรร่วมกับเกษตรกรหาผู้ค้ำประกัน 2 คน เช่น ให้บุคคลเดิมมาค้ำประกัน แต่ถ้าบุคคลเดิมหรือทายาทไม่มาค้ำประกัน หรือค้ำประกันแล้วยังไม่พอ สามารถที่จะเอาสมาชิกองค์กรเกษตรกรมาค้ำให้ได้รวม 2 คน  สอง หนี้เงินต้นคงค้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ให้องค์กรเกษตรกร ร่วมกับเกษตรกรหาผู้ค้ำประกัน 3 คน โดยให้บุคคลเดิมค้ำรวมทั้งทายาท ถ้ายังไม่พอให้สมาชิกองค์กรเกษตรกรมาค้ำประกัน  และสาม หนี้เงินต้นคงค้างตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป ให้องค์กรเกษตรกรร่วมกับเกษตรกรหาผู้ค้ำประกัน 4 คน ประกอบด้วย ทายาท 1 คน และสมาชิกองค์กรเกษตรกร 3 คน   

"แต่กรณีไม่มีทายาทมาค้ำประกัน ตามระเบียบได้เปิดโอกาสให้ให้องค์กรเกษตรกรมอบหมายกรรมการองค์กรเกษตรกรหรือสมาชิกองค์กรเกษตรกรมาค้ำประกันแทนได้ ถือเป็นข้อดีและเป็นประโยชน์ ถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นคำตอบว่า ทำไม กองทุนฟื้นฟูฯจึงต้องกำหนดให้เกษตรกรสังกัดองค์กร สืบเนื่องจาก เกษตรกรที่จะมาเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องไปเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ  ดังนั้นการทำกิจกรรมหรือทำภาระผูกพันใดๆ องค์กรเกษตรกรต้องรับรู้ รวมทั้งมาค้ำประกัน นั่นหมายความว่า สมาชิกเองต้องเข้าร่วมกิจกรรม กรรมการองค์กรก็ต้องเข้ามาดูแลสมาชิก ทำให้เป็นความผูกพัน เกิดการช่วยเหลือกัน นำมาซึ่งความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกร  " นายมนัส กล่าวในที่สุด

HTML::image(