EXIM BANK ชี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและเติบโตแบบกระจุกในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ภาคส่งออกของไทยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2564 EXIM BANK จึงขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ สร้าง Pavilion การค้าออนไลน์ และบริการครบวงจรเพื่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิด-19 ยังแพร่ระบาดทั่วโลก แต่หลายประเทศเริ่มปรับตัวและรับมือเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 6% โดยได้อานิสงส์จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีน และบางประเทศในยุโรป โตมากกว่า 6% ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของ GDP โลก เป็นผลจากความพร้อมในการผลิตวัคซีนเองและฉีดให้แก่ประชาชนของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความพร้อมของเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โรงงานในบางพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนต้องหยุดการผลิต ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีความเปราะบาง จนหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียงราว 1% ขณะที่การท่องเที่ยวยังรอวันฟื้น "การส่งออก" จะกลายเป็นพระเอกประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 15.5% โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาดี สินค้าไทยบางส่วนตอบรับกระแส New Normal ได้ดี และเงินบาทอ่อนค่า โดยคาดว่าในปี 2564 ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 10% ขณะที่ปัจจัยลบที่ยังต้องจับตามองได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย การขาดแคลนวัตถุดิบและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับธุรกิจส่งออก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความชะงักงันของกิจการ Logistics ที่มีผู้ติดเชื้อและการตรวจสอบที่เข้มงวด จนทำให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์กลับเข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน
ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง เร่งขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็วตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ โดย "พัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่" เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ดังนี้
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับนโยบาย Dual-track Policy ของ EXIM BANK ในการทำหน้าที่เป็น "ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)" ขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านภาวะวิกฤตและมีโมเมนตัมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และยั่งยืน มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในโลกยุคใหม่ ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังทำหน้าที่เป็น "ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)" ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภาคธุรกิจสามารถผันตัวเป็นผู้ส่งออกและขยายธุรกิจส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน โดย EXIM BANK จะเร่ง 'ซ่อม' ด้วยการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่วิกฤตและกระตุ้นให้ตลาดกลับมาน่าสนใจ 'สร้าง' อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคต 'เสริม' ความสมดุลของการค้าและการลงทุนในตลาดหลักควบคู่กับตลาด New Frontiers รวมทั้งบุกเบิกโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จะเป็นผู้ให้บริการครบวงจรร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการเติมความรู้ ทุน และศักยภาพ เพื่อช่วยให้ SMEs ค้าขายระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ของผู้ส่งออกที่แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างมั่นใจ
"EXIM BANK จะเร่งพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยเติบโตได้แม้ในภาวะวิกฤตและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่ง EXIM BANK พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและให้เครื่องมือทางการเงินสำหรับบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า แม้ว่าผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่ภูมิคุ้มกันของผู้ส่งออกคือ ความแตกต่างอย่างโดดเด่นของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ภายใต้วิถีใหม่ในระยะข้างหน้าได้" ดร.รักษ์ กล่าว