ศธ. จับมือมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เร่งขับเคลื่อนนโยบาย Coding พร้อมพัฒนาศักยภาพครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตเด็กไทย

17 Aug 2021

กระทรวงศึกษาธิการ จับมือ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) เน้นประยุกต์ใช้ในการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาศักยภาพครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และเร่งให้ได้รับหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อเป็นเอกสารรับรองการปฏิบัติงานในโรงเรียน

ศธ. จับมือมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เร่งขับเคลื่อนนโยบาย Coding พร้อมพัฒนาศักยภาพครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตเด็กไทย

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ คุณภูมิสรรค์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล สร้างความตระหนักและการรับรู้ เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะและการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ สู่ทุกภาคส่วน ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์โค้ดดิ้งแห่งชาติ และ นายวิชิตพล ผลโภค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

ในการนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้มอบนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดีว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) อย่างต่อเนื่อง  และปัจจุบันได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับทางมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นคุณครูต้นแบบที่จะสามารถนำเอาโค้ดดิ้ง (Coding) ไปบูรณาการกับวิชาที่สอน

คุณครูที่ผ่านการฝึกอบรมจะเข้าไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาและพัฒนาคุณครูในแต่ละโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้โค้ดดิ้ง (Coding) ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นได้อย่างเหมาะสมกับพัฒนาการและวัยของผู้เรียน พร้อมทั้งมีการเสริมสร้างทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ให้กับครูผู้สอนในการออกแบบการเรียนรู้และเครื่องมือชี้วัด นอกจากนี้ยังเร่งการประสานความร่วมมือเพื่อรับรองกลุ่มครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อเป็นเอกสารรับรองการปฏิบัติงานในโรงเรียนต่อไป

สำหรับการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรวิทยาการคำนวณ โค้ดดิ้ง (Coding) หมายถึง การเข้ารหัส อันเป็นพื้นฐานในกระบวนการเขียนโปรแกรมในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ แต่การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ไม่ใช่การเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการเรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหาโดยใช้การเปรียบเทียบ การลองผิดลองถูก การค้นหาอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่เด็กควรได้รับพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดหลักสูตรให้เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละชั้นปี เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตัวอย่างการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ในเด็กเล็ก เช่น การเล่นเกมบันไดงู โดยให้เด็กฝึกคิดเพื่อหาทางออกทีละขั้นผ่านการใช้คำสั่งลูกศร ซ้าย ขวา หน้า หลัง เป็นต้น หลักสูตรโค้ดดิ้ง (Coding) จะช่วยส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้งยังมีการเสริมสร้างทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 หมายถึง กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยใช้วิจารณญาณในการทำความเข้าใจปัญหาหรือข้อมูล รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ต้องอาศัยทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการสังเกต ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการอนุมาน ทักษะการสื่อสาร และทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น

นายวิชิตพล ผลโภค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวว่า มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายผู้นำที่ทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กไทยทุกคน ผ่านการสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อไปเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทาย และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชนเป็นเวลาสองปี

โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยให้พวกเขากำหนดอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ตนเองและคนรอบข้าง ผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จะได้รับประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขามุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชนสืบไป  

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ผลิตครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปแล้วจำนวนกว่า 88 คน ซึ่งมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอนาคตเด็กไทยไปแล้วจำนวนกว่า 7,441 คน และมากกว่าครึ่งของอดีตครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ปฏิบัติงานในภาคส่วนนโยบาย ภาคส่วนผู้นำการศึกษา และภาคส่วนการขับเคลื่อนทางสังคม

"ทั้งนี้เป้าหมายหลักของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจะทำให้เด็กไทยทุกคนมีความรู้ เพิ่มพูนทักษะ ความสามารถ แนะนำให้เห็นถึงโอกาสสำหรับการกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง  ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ เองจึงได้รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา ความมุ่งมั่นและกระตือรือร้น และยอมเสียสละเวลา 2 ปีของชีวิตมาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อมาสอนในโรงเรียนและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน รวมถึงช่วยเสริมสร้างระบบการศึกษาไทยให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เพราะผมเชื่อว่าประโยชน์สูงสุดคือ อนาคตนักเรียนที่ดีขึ้น ครับ" นายวิชิตพล กล่าว

HTML::image(