เครือซีพี จับมือ มูลนิธิปิดทองหลังพระ ชูโมเดลทุเรียนคุณภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้

18 Aug 2021

หลังจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาร่วมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาสและปัตตานี ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา หรือโครงการทุเรียนคุณภาพ ต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เครือซีพี จับมือ มูลนิธิปิดทองหลังพระ ชูโมเดลทุเรียนคุณภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เปิดการรับซื้อผลผลิตในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา หรือโครงการทุเรียนคุณภาพ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพของทุเรียน ซึ่งคาดว่าผลผลิตทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ จะมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,655 ตัน หรือ 1,655,000 กิโลกรัม จากเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 564 ราย และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 160 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 1,687 ตันสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 141 ล้านบาท

นายการัณย์กล่าวว่า ในปีนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มีการปรับโครงสร้างราคารับซื้อใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมุ่งผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยการประเมินผลการทำงานของเกษตรกรตลอดทั้งปี และจัดอันดับเกษตรกร เป็นระดับ A B และ C ตามเกณฑ์การให้คะแนนการดูแลต้นทุเรียนตามมาตรฐานคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพ และเกษตรกรตระหนักถึงเรื่องคุณภาพของทุเรียนมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกษตรกรหันมาใส่ใจดูแลต้นทุเรียนตลอดกระบวนการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคู่มือทุเรียนคุณภาพอย่างเคร่งครัดมากขึ้น โดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่แข่งขันกันเรื่องคุณภาพมากขึ้น และทุเรียนในโครงการฯเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า ทุเรียนไทยยังคงได้รับกระแสตอบรับดี ด้วยพื้นที่เพาะปลูกและศักยภาพในการขยายการผลิต โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยโดยรวมในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าปีนี้ผลผลิตทุเรียนรวมทั้งประเทศจะมีประมาณ 1.24 ล้านตัน จากปีก่อนที่มีผลผลิตรวมประมาณ 1.13 ล้านตัน สะท้อนโอกาสในการขยายตลาด ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 70 ของตลาดโลก

"ปีนี้ เครือซีพีได้ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯส่งเสริมช่องทางตลาดทั้งในไทย และตลาดส่งออกต่อเนื่องเป็นปีที่3 โดยกลุ่มเกษตรกรทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในส่วนที่จะพัฒนาไปสู่การส่งออก การเร่งทำตลาดเชิงรุกจึงน่าจะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรเพิ่มความท้าทาย และยกระดับทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้มีความพรีเมียมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ" นายจอมกิตติกล่าว

ด้านนายอังคาร เลิศฤทธิ์ภูวดล ผู้จัดการโครงการรับซื้อผลไม้จากโครงการซีพีเฟรช บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า โครงการซีพีเฟรช เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกรด้วยการรับซื้อผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน และกระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายค้าปลีกร่วมกับโลตัส เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายทุเรียนให้เกษตรกรในราคายุติธรรม ซึ่งจากการลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรตามโครงการปิดทองหลังพระฯ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวทุเรียนและการขนส่ง พบว่า ทุเรียนปีนี้มีคุณภาพ มีมาตรฐานในการผลิตที่ดี ทุเรียนที่รับซื้อเป็นทุเรียนที่แก่จัด เนื้อแห้งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ถือเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะได้ทุเรียนคุณภาพดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรคำนึงถึงเรื่องคุณภาพมากขึ้น และปฏิบัติตามคู่มือทุเรียนคุณภาพอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้มีโอกาสทำตลาดได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

HTML::image(