ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้แม้ในเชื้อที่กลายพันธุ์

30 Aug 2021

นอกจากการไอและจามแล้ว หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า "น้ำลาย" ที่ผลิตจากต่อมน้ำลายของผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรค COVID-19 จะมีปริมาณของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มากมายมหาศาลเพียงใด

ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้แม้ในเชื้อที่กลายพันธุ์

จากความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก ที่ทำจากสารสกัดธรรมชาติข้าวไทย ซึ่งมากมายด้วยคุณประโยชน์มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาต่อยอดสู่ผลงานนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาวะของประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ COVID-19 ด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ได้รับการพัฒนาสูตรซึ่งสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้ทันทีหลังบ้วนปาก แม้ในเชื้อที่กลายพันธุ์ โดยได้ผ่านการทดสอบและรับรองผลการใช้จริงกับผู้ป่วยโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการยื่นจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยจากการให้บริการที่ปลอดเชื้อต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งจะต้องมีการเตรียมช่องปากของผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยได้บ้วนปากด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ก่อนเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมทุกครั้ง ด้วยการปรับสูตรที่เหมาะสมของนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคCOVID-19 ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นขึ้นนี้ พบว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยจากการปลอดเชื้อให้กับผู้ป่วย โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่อเยื่อบุภายในช่องปาก และคาดว่าจะสามารถช่วยปรับระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้

รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงศรัญญา ตันเจริญหัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อกนิษฐ์ จิตต์มิตรภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาและอิมมิวโนโลยีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทีมนวัตกรผู้คิดค้นน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 แม้ในเชื้อที่กลายพันธุ์ ได้เผยถึงส่วนผสมสำคัญของผลงานนวัตกรรมเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังกล่าวว่า ได้มีการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย ร่วมกับองค์ประกอบที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการในเซลล์เส้นใยเหงือกของมนุษย์ จนเห็นผลจริงในผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนวัตกรรมดังกล่าวสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้มากกว่า 99.9% ซึ่งหากสมมุติว่ามีปริมาณเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ประมาณ 1 แสนตัวหากใช้น้ำยาบ้วนปากที่คิดค้นขึ้นนี้ จะทำให้เหลือเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่มีชีวิตอยู่เพียงประมาณ 41 ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดอื่น

จุดเด่นของน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่คิดค้นขึ้นนี้ คือ ความสามารถในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ที่กลายพันธุ์ได้ด้วย โดยจะไปทำลายไขมันที่หุ้มตัวเชื้อไวรัส ทำให้ขาดองค์ประกอบที่จะเพิ่มจำนวนต่อไปได้นอกจากนี้ ยังไม่ทำให้เกิดการติดสีที่วัสดุตัวฟันของผู้ป่วยอีกทั้งยังสามารถจัดเก็บได้นานเกิน 1 ปีในอุณหภูมิห้อง ซึ่งพบว่ายังสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคCOVID-19 ได้เช่นเดิม และที่สำคัญใช้เวลาในการบ้วนปากเพียงไม่ถึง 1 นาที โดยมีแผนจะนำไปใช้ตามโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 และในสถานที่ซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงต่อการรักษาระยะห่าง เช่น ทัณฑสถาน และค่ายทหาร เป็นต้น ต่อไป

ในฐานะทันตแพทย์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาวะของประชาชน รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงศรัญญา ตันเจริญ ได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนชาวไทยในช่วงวิกฤติCOVID-19 ว่า นอกจากควรเคร่งครัดเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย และการล้างมือแล้ว การหมั่นบ้วนปาก และกลั้วคอแม้เพียงน้ำสะอาดธรรมดา ก็จะสามารถช่วยให้ห่างไกลจากCOVID-19 ได้

ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้แม้ในเชื้อที่กลายพันธุ์