นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการบริหารและขับเคลื่อนการทำงานหลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ในส่วนของการบริการแก่เกษตรกรสมาชิก จะเน้นพัฒนาระบบการบริหารงานของสำนักงานกองทุน ที่ทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ สำนักงานภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง และสำนักงานสาขาจังหวัด 77 สาขา ให้เป็นการบริการเกษตรกรในรูปแบบ one stop service แต่อย่างไรก็จากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นให้หน่วยงานปฏิบัติงานแบบ work from home ตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากระบบการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆให้มากที่สุด
" ขณะที่ด้านการฟื้นฟู ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 56,000 กว่าองค์กร รวมจำนวนเกษตรกรสมาชิกประมาณ 540,000 คน ดังนั้นเพื่อให้การบริการและแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จึงจัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ หนึ่ง องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนประเภททั้งเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืม มีประมาณ 11,000 องค์กร ครอบคลุมเกษตรกรสมาชิกประมาณ 500,000 กว่าราย กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าถึงการให้บริการของกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไปจะต้องนำมาวิเคราะห์ถึงผลสำเร็จว่า กลุ่มไหนประสบความสำเร็จแล้ว และกลุ่มไหนยังต้องการพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนกลุ่มที่ สอง เป็นกลุ่มองค์กรที่กำลังยื่นแผนและโครงการ ซึ่งมีประมาณ 1,640 กว่าองค์กร ครอบคลุมเกษตรกรประมาณ 500,000 กว่าคน กลุ่มนี้ต้องเร่งสนับสนุนและดำเนินการเรื่อง การพิจารณากลั่นกรองแผนโครงการและงบประมาณ "
" สำหรับกลุ่มที่ สาม เป็นกลุ่มองค์กรที่กฎหมายบังคับไว้ว่าเกษตรกรรายใดที่กองทุนเข้าไปแก้ปัญหาหนี้หรือจัดการหนี้แล้ว มีจำนวนประมาณ 30,000 กว่าคน ในกลุ่มนี้จะได้เข้าไปช่วยผลักดันให้เกิดการเสนอแผนฟื้นฟูหลังจากเข้าสู่การจัดการหนี้แล้วตามที่กฎหมายกำหนด และกลุ่มที่ สี่ เป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2544 แต่ไม่มีการเคลื่อนไหว จากนั้นไปจะต้องดำเนินการประสานต่อว่าจะมีความประสงค์ในการร่วมกิจกรรมของกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไปอย่างไร"
นายสไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ จะมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะด้านงบประมาณเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้สำนักงานงบประมาณ ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการให้ เพราะตามพระราชบัญญัติกำหนดว่า หากมีทุนหมุนเวียนหรือมีสภาพคล่องเกิน 1,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะไม่จัดสรรงบประมาณให้ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณให้ขอสนับสนุนจากงบกลาง ดังนั้นในการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิก จะต้องดำเนินการของบกลางเข้ามาเพิ่มจากงบประมาณปกติที่ได้รับที่แต่ละปีจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาประมาณ 607 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ แต่กองทุนฟื้นฟูฯจะดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้แผนงานที่กำหนดไว้