กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งดำเนินมาตรการ "พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด" ภายใต้ นโยบาย โควิด 2.0 รุกช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ยกระดับกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC 4.0 (Industry Transformation Center: ITC 4.0) ซึ่งพร้อมรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการ ด้วยเครื่องจักรกลกว่า 50 ประเภท โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร และสมุนไพร พร้อมก้าวสู่การเป็นซูเปอร์เอสเอ็มอีที่สามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของศูนย์ ITC 4.0 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการมาใช้บริการแล้ว 26,557 ราย รวม 8,766 ธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 750 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ "ความสามารถในการผลิต" โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ Micro SMEs รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดีพร้อม จึงได้เร่งดำเนินการตามนโยบาย โควิด 2.0 มาตรการระยะสั้น 60 วัน "พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด" ด้วยการผลักดันให้ศูนย์ ITC ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในการยกระดับกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร และสมุนไพร ให้สามารถประยุกต์ใช้กรรมวิธีการผลิตที่ ทันสมัย นำเทคนิคหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปสร้างความแปลกใหม่ น่าสนใจให้กับสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการในระดับชุมชนให้ก้าวไปเป็นซูเปอร์เอสเอ็มอีที่มีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
"ศูนย์ ITC ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อมเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบต่าง ๆ ที่ช่วยลดต้นทุน และเครื่องจักรกลสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ ชุดเครื่องอบแห้งสำหรับชุมชน เครื่องสกัดสมุนไพรแบบร้อนและเย็น เครื่องระเหยเข้มข้น เตาเผาเซรามิก และอื่น ๆ รวมแล้วกว่า 50 ประเภท อีกทั้งยังมีทีมเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการ ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถทำการตลาดได้ง่ายและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ด้านแหล่งเงินทุน อาทิ การระดม ทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ การเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีตลอดจนด้านงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำงานวิจัยเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ได้ทันที"
นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามการดำเนินงานของศูนย์ ITC ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามี ผู้ประกอบการเข้ามารับบริการจากศูนย์ดังกล่าวมากกว่า 26,557 ราย รวมกว่า 8,766 ธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทาง เศรษฐกิจได้แล้วกว่า 750 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ที่เข้าใช้บริการคือผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร อาหารแปรรูป กลุ่มสตาร์ทอัพ แต่ในระยะหลังที่พบมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร และผลผลิตจากท้องถิ่น เนื่องด้วยกระแสด้านสุขภาพ รวมถึงการต่อยอดวัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เวชภัณฑ์- เครื่องสำอาง และโปรตีนทางเลือกจากแมลง นอกจากนี้ ยังพบว่าศูนย์ ITC ส่วนกลางในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้บริการมากที่สุด จำนวนถึง 813 ราย รองลงมาคือ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จ.ขอนแก่น มีผู้เข้าใช้บริการจำนวน 638 ราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ. ลำปาง มีผู้เข้าใช้ บริการจำนวน 311 ราย
"ดีพร้อมได้เห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมาก ผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลถือว่ามีทิศทางการผลิตสินค้า - บริการ ใหม่ๆ ที่สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น ตลอดจนการเข้ามารับคำปรึกษาเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งที่อยู่ในระหว่าง กระบวนการพัฒนา และที่ต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจได้สำเร็จ ส่วนในระดับภูมิภาค กลุ่มที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาและ พัฒนาธุรกิจจะมีทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน โดยผู้ประกอบการในภาคเหนือมักจะเป็นเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น การนำใบชามาพัฒนาเป็นน้ำยาบ้วนปาก การต่อยอดผลผลิตจากการเลี้ยงผึ้ง การแปรรูปสมุนไพรต่าง ๆ อาทิ การนำกระชายสด มาทำการแปรรูปเป็นกระชายผง โดยการอบแห้งด้วยเครื่องอบ ลมร้อน และบดให้เป็นผงด้วยเครื่องบด เป็นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระชายผงที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมีความเด่นชัดในเชิงการพัฒนาวัตถุดิบจากท้องถิ่น เช่น การแปรรูปแมลง หอยเชอรี่ ผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้า การต่อยอดสินค้าจากการเลี้ยงไหม และการพัฒนากระบวนการผลิตข้าว ส่วนผู้ประกอบการในภาคใต้ จะมีความคล้ายคลึงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เน้นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพารา ผลผลิตจากปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงการ แปรรูปอาหารทะเล และการอบแห้งผลไม้ที่เน้นยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น" ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ ที่สนใจยกระดับกระบวนการผลิตและต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ ศูนย์ปฏิรูป อุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center: ITC 4.0) ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ และสามารถสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8413 หรือ ติดตามความ เคลื่อนไหวได้ที่ http://www.itc.or.th/ นายณัฐพล กล่าวสรุป