สสว.ผลักดัน ผู้ประกอบการอาหาร ไปตลาดมาเลเซีย ได้รับการตอบรับล้นหลาม

25 Aug 2021

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป ให้ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ด้วยกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจในแบบ Virtual Business Matching ได้รับผลตอบรับดี มีผู้สนใจเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจล้นหลาม

สสว.ผลักดัน ผู้ประกอบการอาหาร ไปตลาดมาเลเซีย ได้รับการตอบรับล้นหลาม

แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ในช่วงปี 2020 และต่อเนื่องมายังปี 2021 ทำให้งานแสดงสินค้าในต่างประเทศต้องงด หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ ส่งผลให้การผลักดันสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเพื่อให้การส่งออกสินค้าไทย สามารถขับเคลื่อนและกลับมาดำเนินการได้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดให้มีการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ในแบบ Virtual Business Matching โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลคู่ค้าในต่างประเทศ ที่มีความต้องการสินค้าไทย พบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป ได้รับการตอบรับอย่างคับคั่งจากคู่ค้าในประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (หรือ สสว.) กล่าวถึงการจัดกิจกรรม Thai-Malaysia Online Business Matching (Food products) ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคู่ค้าในประเทศมาเลเซียให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มโมเดิร์นเทรดในแบบไฮเปอร์มาร์ท, ตัวแทนจำหน่ายเข้าร้านสะดวกซื้อ, ตัวแทนจำหน่ายเข้าร้านในแบบ Specialty store, และอีกหลายกลุ่ม ทำให้เกิดช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจากประเทศไทย ทั้งนี้เพราะชาวมาเลเซียชื่นชอบอาหารไทยมากกว่าอาหารจากต่างประเทศในกลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปที่สนใจการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย มีเงื่อนไขอยู่หลายประการที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม อาทิเช่น การได้รับเครื่องหมายฮาลาล (Halal), การมีอายุสินค้าบนชั้นวางสินค้า นานกว่า 18 เดือน (Long shelf-life), และการได้รับมาตรฐานรับรองในระดับสากล (HACCP, GMP, และอื่น ๆ) เป็นต้น นอกจากนี้ พบว่าสินค้าในกลุ่มที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงต่อการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ จากการจับคู่เจรจาธุรกิจในระหว่าง 3 วันที่ผ่านมา (18-20 สิงหาคม พ.ศ.2564) มีผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปของไทย ได้พบปะกับผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 233 คู่เจรจา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย 60 ราย ได้มีการเจรจากับคู่ค้าในประเทศมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 46 ราย โดยในแต่ละคู่เจรจามีความคืบหน้าในการเจรจาการค้าที่แตกต่างกัน ทั้งความสนใจขอข้อมูลรายการสินค้าเพิ่ม, ขอใบเสนอราคา, ขอให้ส่งสินค้าตัวอย่างเพื่อทดสอบตลาด และการสั่งซื้อสินค้าเพื่อทดลองจำหน่าย ฯลฯ

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดโอกาสทางการค้าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการจากประเทศไทยสามารถเข้าถึงผู้ซื้อที่เป็นองค์กรไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก สสว. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยร่วมดำเนินการ จึงนำข้อมูลสินค้าของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทั้งหมด ไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมของผู้ซื้อและผู้ขายในแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ให้ต่างสามารถเข้าถึงและเจรจาการค้าเพิ่มเติมได้อีกนานกว่า 1 เดือนเต็ม

จากการดำเนินกิจกรรม Thai-Malaysia Online Business Matching (Food products) ในครั้งนี้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) หน่วยร่วมดำเนินการ คาดหวังที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท ในห้วง 1 ปีข้างหน้า

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) - https://www.facebook.com/OSMEP

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) - https://www.facebook.com/ISMED.or.th