มบส. เร่งพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ ปักธงครอบคลุมถึงปริญญาเอก หวังเป็นมหาวิทยาลัยประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ดึงนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาสร้างรายได้และชื่อเสียง เผยนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน และเอเชีย สนใจเข้าศึกษา ไม่น้อย ย้ำใบปริญญาคุณภาพแน่น บัณฑิตจบสานฝันทำธุรกิจระหว่างประเทศหรือเข้าทำงานในบริษัทข้ามชาติได้ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมี นโยบายด้านการสร้างเครือข่ายการเรียนการสอนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน 14-15 ปี ขณะเดียวกันมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เรียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฯลฯ ปีละเกือบ 600 คน ส่งผลให้ขณะนี้ มบส.มีความพร้อมที่มุ่ง ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ
ผศ.ดร.กุลสิรินทร์ อภิรัตน์วรเดช ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์และเครือข่ายอาเซียน มบส. ในฐานะ หน่วยประสาน หลักสูตรนานาชาติของทุกคณะและทุกสำนักในมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน โดยเฉพาะหลักสูตรนานาชาติ โปรแกรมนานาชาติระยะสั้น ทั้งภาคเรียนปกติและเรียนทางออนไลน์ จนได้มาตรฐานตามการสนับสนุนความเป็นเลิศด้านนานาชาติ ขณะนี้ มบส.ได้ลงทุนพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลเพิ่มเติม โดยเห็นว่ามีความสำคัญ ไม่แพ้การพัฒนาหลักสูตร
"ไม่ใช่แค่การพัฒนาหลักสูตร ทั้งหลักสูตรอินเตอร์ของทางคณะที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่หลักสูตรเรียนภาษาไทย และหลักสูตรอื่นๆ ที่นักเรียนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนออนไลน์กับสำนักวิเทศฯ เท่านั้น แต่เรายังลงลึกไปถึงการพัฒนาและเสริม ศักยภาพให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดวิทยาลัยนานาชาติในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเพิ่มทักษะ ด้านภาษาอังกฤษในแต่ละคณะ หรือแม้แต่การอบรมภาษาที่ 3 เช่น ภาษาจีน เพิ่มเติมให้กับกลุ่มคณาจารย์ที่ต้องสอนนักศึกษาต่างชาติ เป็นต้น เนื่องจาก มบส.ดูแลติดตามนักศึกษาต่างชาติเสมือนนักศึกษาไทยที่สมัครเข้ามาเรียน ดังนั้นคุณภาพของบุคลากรต้องสอดคล้อง ไปกับคุณภาพหลักสูตรนานาชาติ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ผ่านการเรียนการสอนที่สร้างความเข้าใจได้ถูกต้อง เมื่อจบการศึกษาออกไป ก็จะกลายเป็นบัณฑิตมีคุณภาพมากที่สุด" ผอ.สำนักวิเทศสัมพันธ์ฯ มรภ.บ้านสมเด็จ ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.ณุศณี มีแก้วกุญชร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มบส. กล่าวว่า ทางคณะวิทยาการจัดการมีแผนพัฒนา หลักสูตรนานาชาติให้ครอบคลุมถึงระดับปริญญาเอก โดยปัจจุบันหลักสูตรนานาชาติมีเปิดสอนแล้วในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งตลาดนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเรียนในประเทศไทยยังมีอยู่มาก ถ้าเราพัฒนาหลักสูตรเรียนการสอน พัฒนาศักยภาพอาจารย์ และบุคลากรของคณะเป็นอย่างดีเพื่อรองรับ เชื่อว่า มบส.จะได้เปรียบ และมุ่งไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ ระดับอาเซียนได้เร็วมากขึ้น เพราะมีความน่าเชื่อถือในความหนักแน่นของปริญญา ทำให้ใครๆ ก็อยากมศึกษาต่อ
ขณะที่ นายธนัช กรศุภกิจ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ในฐานะ ประธานสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทางคณะวิทยาการจัดการได้พัฒนาหลักสูตร "การจัดการธุรกิจ ระหว่างประเทศ" ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติหลักสูตรแรกของ มบส. จากการผลักดันของ ดร.ไพฑูรย์ มากสุข คณบดีคณะวิทยาการ คนก่อน และสานต่อโดย ผศ.ดร.ณุศณี คณบดีคนปัจจุบัน โดยใช้เวลาวางแผนและพัฒนาหลักสูตรกว่า 6 ปี ปัจจุบันเปิดสอน เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ได้รับการตอบรับดีจากนักศึกษาต่างชาติ โดยร้อยละ 99 เป็นนักศึกษาจากจีนที่เข้ามาเรียน ส่วนเด็กไทยมีน้อยเพราะการเรียน การสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้อยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์ให้รู้จักหลักสูตร เนื่องจากเป็นหลักสูตรน้องใหม่ของคณะวิทยาการจัดการ นอกจากนี้ ทางสาขาฯ กำลังทำโครงการทุนการศึกษาสนับสนุนให้แก่นักศึกษาที่สนใจเปิดโลกกว้างและสมัครเรียน
"เราพยายามและทุ่มเทกันอย่างมากที่จะพัฒนาหลักสูตรนานาชาติของทางคณะให้มีคุณภาพเต็มเปี่ยม เป็นที่ยอมรับในระดับ ประเทศและต่างประเทศ เช่น เน้นการฝึกงานกับบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ขอกลับไปฝึกงานในประเทศของตัวเองได้ หรือพาไป ทัศนศึกษาเรียนรู้ยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ด้านอาจารย์ทุกท่านทั้งอาจารย์คนไทยและต่างชาติที่มาร่วมเขียนหลักสูตร และทำการสอน ล้วนมีดีกรีได้มาตรฐานจบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ ในประเทศไทยก็มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ขณะนี้ก็เตรียมพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม โดยเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ตัวหลักสูตรและคณาจารย์ เพราะหวังให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเป็นหนึ่ง สถานศึกษาในศูนย์กลางประชาคมอาเซียน ที่สร้างสายสัมพันธ์ให้นักศึกษาในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นจากเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงเอเชียอย่างจีน และอินเดีย ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเรียนและวัฒนธรรม ระหว่างกันกับทางคณะมากขึ้น เมื่อจบออกไปแล้วก็สามารถเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ได้ หรือสร้างเครือข่ายทำธุรกิจในต่างประเทศได้จริงๆ รวมถึงนักศึกษา ไทยที่ทางสาขาและทางคณะต้องกลับไปประเมินว่า จะสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ในแบบไม่กลัวภาษาอังกฤษเพื่อ อนาคตที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร" ประธานสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณะวิทยาการจัดการ มบส. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit