เปิดไอเดียโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ นำเทคโนโลยียกระดับเกษตรทันสมัย ซีพีเอฟหนุนสร้างความมั่นคงทางอาหาร

06 Jul 2021

จากโจทย์ความต้องการให้เกษตรกรในทุกระดับ มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีที่ดีเพื่อพัฒนาตัวเอง นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ จึงเกิดเป็นกิจกรรม "Virtual Hackathon by 42 Bangkok X CPF" จากความร่วมมือของ 42 Bangkok สถาบันสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกของไทย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ร่วมกันเปิดเวทีค้นหาโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ ผ่านการเรียนรู้จากโจทย์ธุรกิจจริง 6 โจทย์ที่ซีพีเอฟตั้งไว้

เปิดไอเดียโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ นำเทคโนโลยียกระดับเกษตรทันสมัย ซีพีเอฟหนุนสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ในการยกระดับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร พัฒนาการเกษตรทันสมัย ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล โดยการแข่งขันรูปแบบ Virtual Hackathon ด้วยกิจกรรมระดมสมองและสร้างสรรค์นวัตกรรมตามโจทย์ที่ได้รับ ภายในระยะเวลาจำกัด ซึ่งได้รับความสนใจจากโปรแกรมเมอร์เข้าร่วมการแข่งขัน 24 ทีม ทีมละ 4 คน ร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ซอฟต์แวร์และเสนอไอเดียสู่การสร้างนวัตกรรม จนได้ผู้ชนะใน 6 โจทย์ ได้แก่

1. Excellent Farmer 2.Agriculture GIS Visualization 3.Smart Shrimp Farming 4. On-Shelf product availability with image processing 5. Document type classification and data extraction for automated data entry และ 6. Food Supply Chain (Conceptual) Model

สำหรับ Excellent Farmer ผู้ช่วยเกษตรกรอัจฉริยะ หรือเกษตรแม่นยำ ผู้ชนะในโจทย์นี้คือ ทีมป๊อปคอร์น และยังเป็น 1 ใน 6 ทีมผู้แข่งขันที่ชนะรางวัล เฟิรสท์ ไพรซ์ (First Prize) สำหรับทีมที่ผลงานได้คะแนนสูงสุดของทั้ง 6 โจทย์การแข่งขันด้วย

นายภาวิต พิมชนะกุล หรือวี ในฐานะ Developer หน้าใหม่จาก CodeCamp Thailand รับหน้าที่หัวหน้าทีมป๊อปคอร์น บอกว่า ความโดดเด่นที่ทำให้ทีมคว้ารางวัลจากโจทย์นี้มาได้ น่าจะเป็นไอเดียของแอพพลิเคชัน (แอพฯ) ที่สามารถใช้งานได้ง่าย แก้ปัญหาได้ตรงจุด ได้ประโยชน์ทั้งผู้ใช้งานและเจ้าของซอฟท์แวร์ แนวคิดหลักที่ทีมใช้คือ การส่งต่อความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ที่มีทั้งการสังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดลอง และสรุปผล โดยผลลัพธ์จากการทดลองแต่ละครั้งจะทำให้ซอฟท์แวร์ฉลาดขึ้น จึงสามารถช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สั่งสมจากเกษตรกรรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์ได้ หรือเกษตรกรที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็สามารถทดลองเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดในการเพาะปลูกข้าวโพดได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแอพฯ "Corn-Lab" ที่หมายถึง Lab (ห้องทดลอง) ที่ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า collaboration หมายถึงการร่วมมือกัน ภายใต้แนวคิด "ให้การปลูกข้าวโพดเป็นเรื่องสนุก ง่าย และได้คุณภาพ" แอพฯนี้จะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด ตั้งแต่เริ่มปลูก การแก้ปัญหาการเพาะปลูก รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ปลูกข้าวโพด นำไปสู่การสร้างห้องเรียนผู้เชี่ยวชาญ และแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรทั่วประเทศ มีการนำเทคโนโลยี Machine Learning (ML) และ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการเพาะปลูก ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเป็น "เกษตรกรแม่นยำ" และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

"ทีมป๊อปคอร์น เชื่อว่า "Corn-Lab" จะทำให้องค์ความรู้ของการเพาะปลูกที่ถูกสั่งสมมา สามารถนำไปต่อยอดผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยไม่สูญหายไป คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้บันทึกความรู้ที่สั่งสมและสืบทอดมาจากภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าผู้มากประสบการณ์ ผสานเข้ากับการทดลองผิดถูกเพื่อต่อยอดหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนา หาคำตอบที่ดียิ่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ นี่คือจุดแข็งและจุดขายของแอพฯ "Corn Lab" ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพันธุ์พืช หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์ก็ตาม" นายภาวิต กล่าว

ส่วนอีกโจทย์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Smart Shrimp Farming ฟาร์มกุ้งอัจฉริยะ พัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในโรงเรือนแบบปิด โจทย์นี้ ทีม ฟอเรสท์ ชริมพ์ (Forrest Shrimp) ได้คะแนนสูงสุด นายกนิษฐ์ ฉัตรเวทิน หรือเอ็กซ์ วิศวกร บจ. ไอชิน ทากาโอกะ เอเชีย บอกว่า หลังจากทีมทราบความต้องการ ว่าต้องทำฟาร์มเป็น Automation และต้องแก้ Pain Point ปัญหาหลักเรื่องการใช้พลังงาน สำหรับเครื่องเติมออกซิเจนในน้ำที่ต้องทำงานตลอดเวลา ต่อยอดสู่ฟาร์มจะสมาร์ทได้ต้องควบคุมคุณภาพน้ำ การให้อาหารที่เชื่อมโยงกับเรื่องต้นทุน โดยทีมตกลงที่จะทำ Platform Automation เพื่อเป้าหมาย "ทำสมาร์ทฟาร์มที่ช่วยลดต้นทุน" จากนั้นจึงสรรหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ แล้วเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกมา งานนี้นอกจากจะได้ฝึกทักษะและท้าทายความสามารถของตนเองและทีม ที่ต้องคิดนวัตกรรมภายในเวลาอันสั้นแล้ว เชื่อว่าวิธีแก้ปัญหาง่ายๆที่ทีมคิดเพื่อตอบโจทย์ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ซีพีเอฟนำไปต่อยอดในธุรกิจต่อไป

ขณะที่โจทย์ที่เกี่ยวโยงถึงเรื่องอาหารอย่างเช่น Food Supply Chain Model โมเดลการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร ใช้เทคโนโลยีเรียลไทม์ และบล็อกเชน (Blockchain) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัท ตรวจสอบย้อนกลับและสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ คะแนนสูงสุดเป็นของ ทีม ที เอ็ม ดี (TMD) ตัวแทนของทีม นายชัยพร จรูญวิทย์ หรือแตง ที่ประกอบกิจการร้านขายของตนเอง และได้ใช้องค์ความรู้จาก ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ร่ำเรียนมาสู่การต่อยอดในด้านนี้เรื่อยมา เขาและทีมบอกว่า สำหรับโจทย์นี้ทีมเลือกบล็อกเชน มาใช้ใน Food Supply Chain ข้อดีคือช่วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความถูกต้อง ตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลได้ตลอดห่วงโซ่การผลิตว่ามีความปลอดภัยอาหารต่อผู้บริโภค ผ่านการระดมไอเดีย ช่วยกันนำเสนอ นำความถนัดของคนในทีมมาใช้ และเชื่อว่าบล็อกเชนสามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยการนำ Smart contract ในบล็อกเชนเข้ามาใช้ร่วมกับ AI และเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือการวิเคราะห์คำนวณสต๊อก รวมถึงการใช้ QR Code ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การนำบล็อกเชนมาใช้จึงส่งผลดีทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

ส่วนในโจทย์ On-Shelf product availability with image processing การนับจำนวนสินค้าในชั้นวางสินค้าของร้านค้าปลีก โดยใช้ภาพจากกล้อง ด้วยการใช้กล้องวงจรปิดติดตั้งบนเพดาน เพื่อว่าถ่ายภาพชั้นวางสินค้าจากมุมสูง เพื่อทราบชนิดสินค้า และจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่บนชั้นวางสินค้า ที่มี ทีม เลสท์ โก (Let's Go) ได้คะแนนสูงสุด นายณัฐภัทร ศุภรัตน์โสภิณ หรือแอ๊มป์ นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ทีมเริ่มจากการระดมความคิดและแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละคน จากโจทย์ที่ได้มานั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง หลังจาก Mentor ให้คำแนะนำเพิ่มเติมทำให้เกิดมุมมองเรื่องการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนั้น นำไปสู่แนวคิดการดึงข้อมูลสร้าง Platform ที่เป็นตัวกลางของเจ้าของร้าน พนักงาน ลูกค้า แม้ว่ามีความยากในการเตรียมข้อมูล เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานจำนวนมาก แต่เชื่อว่าสามารถทำได้ และต้องเป็นการบ้านต่อเรื่อง Deep Learning ของ AI ซึ่งต้องเขียน Program ต้นแบบให้ AI ไปเรียนรู้ นำภาพมา Pre-Process เพื่อนำไปสอนคน ก่อนส่ง Data ไปให้ AI เพื่อความแม่นยำที่สุดต่อไป

ด้าน นายสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ จำกัด (CPFIT) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ และ 42 Bangkok ในครั้งนี้ มีเป้าหมายผลิตบุคลากรด้านโปรแกรมเมอร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ผ่านโจทย์ธุรกิจและการปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะใหม่ให้กับบุคลากรของบริษัท ตอบโจทย์การทำงานในยุคเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ร่วมพัฒนาประเทศไทย จากการช่วยกันคิดค้นนวัตกรรม ทำให้เทคโนโลยีและซอฟแวร์มีต้นทุนที่ถูกลง เพื่อให้เกษตรกรในทุกระดับมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีที่ดี ในการช่วยยกระดับเกษตรทันสมัย เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้

เวที "Virtual Hackathon by 42 Bangkok X CPF" นอกจากจะช่วยสรรหาโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ซีพีเอฟ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเป็นครัวของโลก จะนำเทคโนโลยีนั้นไปประยุกต์ใช้ เพื่อร่วมยกระดับเกษตรสู่ 4.0 ด้วยซอฟแวร์ สร้างประโยชน์และความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยพัฒนาประเทศไทย สอดรับตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ทั้งประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท ที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด.