เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลไทย กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย 100 ท่าน ร่วมประชุมหารือเรื่องความเชื่อมโยงเกื้อหนุนของการดำเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของประเทศไทย (NDCs) และเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมออนไลน์ แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล หรือ International Climate Initiative (IKI) Cooperation ครั้งที่ 2 ของปีนี้
จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายด้านสภาพอากาศรวมถึงการบรรเทาผลกระทบเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDCs ตลอดจนหาวิธีปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDGs ถือเป็นหนึ่งวาระที่สำคัญของโลก ซึ่งได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยที่การรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญ
ในการกล่าวเปิดงาน ดร. ณัฎฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กล่าวว่า "…โอกาสนี้เป็นเวทีสำคัญที่เราได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีและบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อโครงการต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของ IKI มีการประสานงานกันเป็นอย่างดีและหาวิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนวาระนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการนำไปปฏิบัติในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดการภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับประชาคมโลก และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน…"
ประชุมในครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์และประโยชน์ร่วมของการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก IKI เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานต่างๆ ของไทย และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศได้หารือร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนโยบายและการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ กลุ่มพลังงานและการขนส่ง กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มของเสีย/อุตสาหกรรม/การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และกลุ่มน้ำ/ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ทำให้โครงการต่างๆ ได้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน อีกทั้งเครื่องมือ ความต้องการ และนโยบายที่สอดคล้องกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำโครงการใหม่ภายใต้ IKI ซึ่งได้แก่ 1) Digital solutions to reduce energy consumption in small hotels in Thailand 2) Orientation of infrastructure investments on the goals of the Paris Agreement and the 2030 Agenda in Central and 3) Southeast Asia and Reducing Maritime Transport Emissions in East and Southeast Asian Countries 4) National Ecosystem Assessment for Thailand อีกทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเพื่อขยายความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
คุณโลล่า เรอเน่ มูลเล่อร์ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบาย กองสหประชาชาติ ฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจใหม่ ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ของประเทศเยอรมนีกล่าวว่า "…วาระการพัฒนา 2030 นี้เปรียบเสมือนประภาคารในทะเลที่ทำหน้าที่ให้แสงไฟ ในการกำหนดมาตรการนโยบาย ที่ครอบคลุมมิติทางสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้เร็วขึ้น
รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้เน้นย้ำว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ยังดำเนินการได้ไม่เต็มศักยภาพและไม่เต็มขั้น การจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว และการสนับสนุนจากมาตรการระยะสั้นอีกด้วย …ดิฉันมีความยินดีอย่างยิ่งที่เรามาร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือกันวันนี้ ทั้งในเรื่องแง่มุมระดับนโยบายและการดำเนินงานระดับโครงการ"
คุณลิโอบา ดอนเนอร์ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบาย ฝ่ายแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล กล่าวว่า "…ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยและเยอรมนีได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบการทำงานของ IKI ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลนี้BMU ได้สนับสนุนโครงการด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการภายใต้ IKI 29 โครงการ ด้วยเงินทุนรวมประมาณ 340 ล้านยูโร เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งกับโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานเพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพ"
ก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน นางสาวปทิตตา ธรรมเจริญ ผู้แทนจาก สผ. ได้กล่าวถึงภาพรวม กรอบโครงสร้างสถาบัน และสถานะปัจจุบันของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของประเทศไทย และดร. ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงสถานะของเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
ข้อมูลเบื้องต้นแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) เป็นกลไกด้านการเงินเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของ BMU และยังเป็นการผูกพันด้านการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยมีการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการภายใต้ IKI ที่กำลังดำเนินการอยู่ 28 โครงการ ทั้งความร่วมมือแบบทวิภาคี หรือความร่วมมือกับหลากหลายประเทศในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ความร่วมมือไทย-เยอรมัน ในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้รับทุนสนับสนุนจาก IKI และเริ่มดำเนินงานเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว BMU และมีสผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU ) ได้มอบหมายให้โครงการต่าง ๆ ในความร่วมมือจัดการประชุมภายในประเทศทุกปี เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายใต้ความตกลงปารีส
เว็ปไซต์ IKI: https://www.international-climate-initiative.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit