สวพส. ผนึกกำลังร่วมกับ สวก. และ สพว. พัฒนากัญชงสู่อุตสาหกรรม

27 Jul 2021

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ซึ่งจะมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงของประเทศสู่อุตสาหกรรมระหว่างทั้งสามหน่วยงาน ผ่านทางระบบ Facebook Live ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564

สวพส. ผนึกกำลังร่วมกับ สวก. และ สพว. พัฒนากัญชงสู่อุตสาหกรรม

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

โดยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ผลการวิจัยและพัฒนา ทำให้จากอดีตที่แม้แต่การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาและวิถีของชนเผ่าม้ง เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มและใช้สอยในครัวเรือนนั้น ยังผิดกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ  โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปีพ.ศ. 2549-จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรกๆ มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ ในขณะนี้ โดยมีผลงานที่สำคัญคือ

ระยะที่ 1 ปี พ.ศ.2549-2554 ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ 4 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่มีปริมาณ THC ต่ำกว่า 0.3% คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 ควบคู่กับวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม ได้แก่ ระยะปลูก ช่วงเวลาปลูก อายุเก็บเกี่ยว และระบบการปลูกเฮมพ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การตลาด และนำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง (2552-2556) แผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) และแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2555-2559 สวพส. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ได้แก่ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สามารถปลูกเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พัฒนาระบบควบคุมการปลูกที่เหมาะสม และสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Institute of Small and Medium Enterprises Development, ISMED) กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนิน "โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเฮมพ์อย่างสร้างสรรค์แบบครบวงจร" เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของกัญชงที่เชื่อมโยงสู่ภาคปฏิบัติในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และ สวพส. ได้ศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ในด้านการศึกษาระบบส่งเสริมการปลูกภายใต้ระบบควบคุม ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด การพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์เฮมพ์ภายใต้ระบบควบคุม การพัฒนาชุดตรวจปริมาณ THC ภาคสนาม (THC test kit) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยเฮมพ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง การวิจัยและพัฒนาต้นแบบอาหารสุขภาพจากเมล็ดเฮมพ์ เช่น น้ำมันในแคปซูล และโปรตีนอัดเม็ด ซึ่งพบว่าเมล็ดกัญชงที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 พันธุ์ มีน้ำมัน 28.06-29.62 % และเมื่อสกัดด้วยวิธีการบีบเย็นจะได้ผลผลิตน้ำมัน 22.29% ซึ่งมีกรดไขมันได้แก่โอเมก้า 3, โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 เท่ากับ 20.91, 58.23, 9.74 กรัมต่อน้ำมันเฮมพ์ 100 กรัม และมีโปรตีนที่ในกากเมล็ดเฮมพ์ 33.25 % 

ระยะที่ 3 ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน มุ่งศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อขยายผลและผลักดันเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยตามนโยบายรัฐบาล ทั้งด้านเส้นใย อาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ เช่น ร่วมกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก และกรมพลาธิการทหารบก วิจัยและพัฒนาเครื่องแต่งกายทหารจากเส้นใยเฮมพ์ 3 ชนิด คือ ชุดพราง เสื้อยืด และถุงเท้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ พัฒนาชุดตรวจวัดปริมาณ THC อย่างง่าย (THC strip test) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งตัวอย่างตรวจในห้องปฏิบัติการ ประมาณ 15-25 เท่า รวมทั้งการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ผ่านการจัดฝึกอบรม สัมมนา ศึกษา ดูงาน ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และคู่มือต่างๆ

ข้อจำกัดที่สำคัญของการสนับสนุนให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยคือ ข้อมูล พันธุ์ และ การเตรียมการด้านการตลาด ซึ่งกฎหมายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลการวิจัยที่เน้นใช้ประโยชน์จากเส้นใยเป็นหลัก จึงยังไม่สมบูรณ์มากพอสำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งความสนใจปลูกขณะนี้ส่วนใหญ่มุ่งใช้ประโยชน์จาก CBD และเมล็ด และข้อจำกัดที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง คือเมล็ดพันธุ์ที่ยังผลิตได้ปริมาณน้อยมากสำหรับปี พ.ศ.2564 นี้ เพราะมีการผลิตจำนวนน้อยเพื่อใช้ในงานวิจัย ไม่สอดคล้องกับความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน ทั้งนี้จะสามารถการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้พอเพียงได้เร็วที่สุด คือในปี พ.ศ.2565 การใช้ข้อมูลและเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศอาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคงต้องทำอย่างรอบครอบ โดยมีการศึกษาทดลองก่อนนำมาใช้อย่างจริงจัง

เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง มีอีกหลายสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำ สวพส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพืชนี้ มีประเด็นที่จะให้ความสำคัญและดำเนินการในระยะต่อไป คือ (1) การปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีสารสำคัญกลุ่ม Cannabinoids, Flavonoids หรือ Terpenes ในช่อดอกสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร หรือเวชสำอาง คัดเลือกพันธุ์ที่มีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น การไม่ตอบสนองต่อช่วงแสงเพื่อให้ปลูกได้ทุกฤดูกาล รวมทั้งรวบรวมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์พืชสกุล Cannabis สำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ (2) การผลิตสารสำคัญจากช่อดอก มุ่งวิจัยวิธีการปลูกและการกระตุ้นการออกดอกเพื่อให้ผลิตสารสำคัญจากช่อดอกได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ (3) การผลิตเมล็ดสำหรับการบริโภค มุ่งพัฒนาระบบการปลูกทั้งขั้นตอนวิธีการผลิตต้นทุน และความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เปิดให้ใช้ประโยชน์เมล็ดเป็นอาหารและเครื่องสำอางและ (4) การแปรรูปเส้นใย มุ่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยกัญชงโดยปรับใช้เทคโนโลยีภายในประเทศให้ใช้ประโยชน์เส้นใยกัญชงอย่างมีประสิทธิภาพในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายทหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่น และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ และ (5) การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เพื่อการผลิตเมล็ด และส่วนประกอบต่างๆ ของกัญชง เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและผู้สนใจ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการตลาด รวมทั้งนำข้อมูลของการวิจัยและพัฒนามาใช้สนับสนุนการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อกำหนด และวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนากัญชงสู่พืชเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

ขณะที่ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557- ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ โดยจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ในขั้นแรก สวก. มีแนวทางในการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนในด้านการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงมีแนวทางที่จะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงานในการวิเคราะห์หาข้อมูลต้นทุนการผลิตกัญชงตลอดห่วงโซ่ รวมถึง สวก. จะร่วมสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ สวก. ยังได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุกๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือ ในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

ด้านนายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สพว. กล่าวว่า  สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ในฐานะที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรก็ต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ  รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) มีองค์ความรู้ประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - ปัจจุบันโดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส) และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง 5 คลัสเตอร์ การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่างๆ  เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ  ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับการถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทาง https://www.facebook.com/ardathai ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

HTML::image(