ม.มหิดล ต่อยอดพันธกิจมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน "Mahidol for Sustainable Future"

19 Jul 2021

ด้วยคำมั่นสัญญาที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเป็น "A Promised Place to Live and Learn with Nature" หรือ สถานที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตั้งแต่สมัยที่ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปีพ.ศ.2550 - 2554 จนเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 - ปัจจุบัน ก็ยังคงเจตนารมณ์เดิมที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลคงความเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งหน้าไปสู่การตอบโจทย์สังคม ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ภายใต้ร่มของ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาการวิจัย การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "Mahidol for Sustainable Future"

ม.มหิดล ต่อยอดพันธกิจมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน "Mahidol for Sustainable Future"

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ให้กลายเป็น"มหาวิทยาลัยสีเขียว" อันดับหนึ่งของประเทศไทย 5 ปีซ้อนจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก UI Green Metric ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบันว่า เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติแล้ว ยังคำนึงถึงความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย

ซึ่งการทำให้เกิด "Change" หรือ "ความเปลี่ยนแปลง" ต้องอาศัย "Trust" หรือ "ความเชื่อถือ" ด้วยการ "คิดนอกกรอบ" และ "ลงมือทำให้เห็นจริง" จึงเป็นที่มาของการมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในระดับองค์กร ประเทศชาติและสังคม

ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลท่านปัจจุบัน ที่ได้ต่อยอดแนวคิดของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยการประกาศนโยบายใหม่ "Eco & Sustainabiliy Policy" หรือ "นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่อันดับ TOP50 มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่   Sustainable Growth เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน Sustainable Resources เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และ Sustainable Society เพื่อการสร้างสังคมอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เชื่อว่า โลกในยุคปัจจุบันหมุนตามเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างความต้องการเกินจำเป็นจนขาดสมดุล ซึ่งจะไปสร้างภาระ รวมทั้งเบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นหลัง ด้วยหลักของ"เศรษฐกิจพอเพียง" ตามศาสตร์พระราชาเท่านั้น จะเป็นทางออกเดียวที่ช่วยแก้ไขเยียวยาปัญหาความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นได้

ซึ่งหลักการสำคัญของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยเมื่อปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกรจามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มจัดเสวนาออนไลน์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลักดันการศึกษาไทยสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกในอันดับที่ดีขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน ซึ่งจากการจัดเสวนาออนไลน์เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน โดยวิทยากรจาก UI Green Metric เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยได้เข้าใจถึงเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก นำสู่การเกิดการพัฒนา จนทำให้จำนวนกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 62 สามารถขึ้นสู่อันดับ 200 - 800 ของมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกได้

มาในปีพ.ศ.2564 นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาออนไลน์ "The 2nd National Workshop of UI Green Metric for University in Thailand" ต่อไป โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ได้แสดงมุมมองถึงตัวชี้วัดของ UI Green Metric ว่า ต่อไปจะไม่ได้เน้นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะมุ่งไปถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือSDGs แห่งสหประชาชาติ ที่ตอบโจทย์สังคม เศรษฐกิจ การสร้างความร่วมมือ และสันติสุขมากขึ้นด้วย ซึ่งการจัดอันดับไม่สำคัญเท่ากับความมีศักยภาพ มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์สามารถติดตาม Facebook Live ได้ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ระหว่างเวลา 09.00 - 11.30 น. ที่เพจMahidol University Sustainability

HTML::image(