ครึ่งแรกของปีนี้ มีการลงทุนซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 61 รายการ คิดเป็นห้องพักรวมกว่าหมื่นห้อง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากมูลค่า พบว่า การซื้อขายทั้งหมดมีรวมมูลค่ารวม 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3.7% จากครึ่งแรกของปี 2563 ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล
การรวบรวมข้อมูลและประเมินผลโดยเจแอลแอล เผยให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีการซื้อขายโรงแรมรวมมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเอเชียแปซิฟิก ปริมาณการลงทุนซื้อขายโรงแรมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีมูลค่าลดลง 18% อย่างไรก็ดี การที่มีรายการซื้อขายโรงแรมรายการใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายรายการ สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมของภมิภาคนี้ยังคงสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้การดำเนินธุรกิจโรงแรมจะยังคงติดขัดและรับผลกระทบต่อเนื่องจากมาตรการคุมเข้มการเดินทาง
นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า "ความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกยังคงมีอยู่สูง โดยนักลงทุนมองที่ศักยภาพระยะยาว การลงทุนซื้อขายโรงแรมยังคงเกิดขึ้นแม้จะมีมาตรการล็อคดาวน์และควบคุมการเดินทาง แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงสนใจในตลาดการซื้อขายโรงแรมอยู่ต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาด"
รายงานจากเจแอลแอล เปิดเผยว่า หากมองเฉพาะที่เอเชีย (ไม่นับรวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) การลงทุนซื้อขายโรงแรมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 3.53 พันล้านดอลลาร์ มีสัดส่วนคิดเป็น 94% ของมูลค่าทั้งหมดของเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนซื้อขายเกิดขึ้นมากที่สูงสุด โดยมีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 86% ของภูมิภาค
จีนเป็นตลาดโรงแรมที่มีการซื้อขายมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แซงหน้าโตเกียว ซึ่งเดิมเป็นตลาดที่มีการลงทุนซื้อขายโรงแรมมูลค่าสูงสุด โดยในครึ่งปีแรก โตเกียวมีการซื้อขายมูลค่ารวม 1.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 47% อย่างไรก็ดี คาดว่าการซื้อขายจะมีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีซื้อขายโรงแรมหลายรายการที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการหรืออยู่ในแผนที่จะเกิดขึ้น
นายนิฮาท เอร์แคน กรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านการขาย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า "จากที่เราสัมผัสมา เป็นที่ชัดเจนว่า ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดหวังยังคงมีช่องว่าง แต่โดยส่วนใหญ่ เจ้าของโรงแรมในภูมิภาคนี้ ยังไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันสูงจนถึงกับต้องยอมขายลดราคาลงมาก เนื่องจากไม่ได้มีหนี้สูง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสถาบันการเงิน/เจ้าหนี้ และในบางกรณียังได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการรัฐฯ ด้วย"
การวิเคราะห์ของเจแอลแอลเผยให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อรายหลักในตลาดโรงแรมของออสเตรเลียและญี่ปุ่น ในขณะที่ในจีนและเกาหลี ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนภายในประเทศ
นอกจากนี้ เมืองที่เป็นตลาดรีสอร์ทกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดโรงแรมทั่วไป จากการมีความต้องการสะสมของผู้คนที่ไม่สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ มัลดิฟส์ ภูเก็ต เกาะสมุย และบาหลี คาดว่าจะเป็นตลาดรีสอร์ทที่มีการซื้อขายโรงแรม-รีสอร์ทเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะมัลดิฟส์มีแนวโน้มว่าจะเป็นตลาดรีสอร์ทที่มีการซื้อขายคึกคักมากที่สุดในปีนี้
แม้นักลงทุนจะยังกังวลเกี่ยวกับปัจจัยลบต่างๆ ในระยะสั้นที่ภาคธุรกิจโรงแรมของเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ อาทิ การกระจายวัคซีนที่ล่าช้า และผลกระทบจากการเกิดการระบาดระลอกใหม่ แต่เจแอลแอลประเมินว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในภูมิภาคสำหรับทั้งปีนี้จะมีมูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้น
"เราคาดว่า การฟื้นตัวของวงจรธุรกิจจะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้การลงทุนในตลาดโรงแรมทั่วภูมิภาคดำเนินต่อไป ทั้งนี้ การมีรายการซื้อขายโรงแรมสำคัญๆ หลายรายการที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในออสเตรเลีย ไทย ญี่ปุ่น และจีน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการลงทุนซื้อขายโดยรวมของภูมิภาคปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เรายังเชื่อด้วยว่า ยอดมูลค่าการลงทุนซื้อขายโดยรวมของทั้งปี น่าจะสอดคล้องกับตัวเลขที่ 7 พันล้านดอลลาร์ ที่เราประมาณการณ์ไว้ ณ ช่วงต้นปี ซึ่งจะสูงกว่าปี 2563 ราว 20%" นายเออร์แคนกล่าว
นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม ภาคพื้นเอเชีย เจแอลแอล กล่าวว่า "ตลาดโรงแรมของไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนในภูมิภาค โดยจากข้อมูลการลงทุนซื้อขายที่เรารวบรวม ในครึ่งแรกของปีนี้ มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้น 2 รายการ และจะมีการซื้อขายอีกอย่างน้อย 5 รายการที่มีกำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปีนี้"
เกี่ยวกับ JLL
JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศและมีพนักงานทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 93,000 คน สำหรับในประเทศไทยเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยพนักงาน 1,600 คน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit