นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ด้านการเกษตร ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี 2564 เป็นต้นไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ด้านการเกษตร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมด้วยสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะกำหนดแนวทาง มาตรการ และกลไกการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 - 2570 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ตลอดจนวางระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"สำหรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้ง ด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน ให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง มีผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียม สินค้าเชิงนวัตกรรมที่หลากหลาย กำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร อันจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน" เลขาธิการ สศก. กล่าว
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรด้วย BCG Modelจะดำเนินการใน 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน แนวทางที่ 2 ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ การผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง แนวทางที่ 3 พัฒนาเกษตรกรมืออาชีพและเสริมสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรภาครัฐ และ แนวทางที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะคัดเลือกโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2565 ที่สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงาน BCG Value Chain ภาคการเกษตร ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต และให้หน่วยงานระดับกรม จัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน BCG ภาคการเกษตร เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 - 2570 รวมทั้งการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป
"ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งกำหนดชนิดของสินค้า ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี มีสินค้ามะพร้าวน้ำหอม อ้อย สุกร และ โคนม จังหวัดลำปาง สินค้าข้าวเหนียว และไผ่ จังหวัดขอนแก่น สินค้าอ้อย และหม่อนไหม จังหวัดจันทบุรี สินค้าทุเรียน และมังคุด และจังหวัดพัทลุง สินค้าข้าว โดยได้จัดทำ BCG Value Chain ของสินค้าเป้าหมาย เร่งสร้างการรับรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมจัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ยกระดับผลผลิตทางการเกษตร จากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย (More for Less) ไปสู่การผลิตสินค้า พรีเมี่ยม ที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก (Less for More) เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน" รองเลขาธิการ สศก. กล่าว