สสดย. - สสส. แนะทางออกเผชิญหน้า 'วิกฤติสุขภาพใจที่อ่อนล้าโควิด' ด้วยหลัก 3i เน้น 'สร้างพลังบวก - เปิดพื้นที่รับฟัง - รู้เท่าทันสื่อ' พาสังคมผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ FAM TALK : สื่อสารสร้างสรรค์กับประเด็นสำคัญที่ครอบครัวควรรู้ เพื่อรับมือและเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิดที่ยังคงวิกฤติทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการจับคู่ซักถามพูดคุยอย่างออกรสใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหนี้สาธารณะวิกฤตจริงหรือ โดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ซักถาม คุณแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประเด็นครอบครัวอ่อนล้าจากวิกฤต...มีทางออกอย่างไร โดยคุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล (ดีเจพี่อ้อย) ซักถาม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและที่ปรึกษาสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ประเด็นสื่อสารทันสมัย สำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล โดยคุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา รองประธานสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ ซักถาม ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในช่วงประเด็นแรกของการเสวนา คุณแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้ให้ความรู้ด้านภาวะหนี้สาธารณะของประเทศในขณะนี้ว่า หนี้สาธารณะอธิบายง่ายๆ คือหนี้ของประเทศ เป็นหนี้ของรัฐบาลที่กู้มาเพื่อเติมเต็มและช่วยให้ประเทศสามารถใช้มาตรการทางการคลังได้ดีขึ้น ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 55% ของ GDP ซึ่งสถานการณ์ถือว่ายังดีอยู่ วิกฤติโควิดทำให้ประเทศขาดรายได้ เพราะประชาชนขาดรายได้ เงินกู้ของประเทศจะเข้ามาช่วยเติมเต็มตรงจุดนี้ ที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายต่อไปในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนไม่มีหนี้สาธารณะ การกู้หนี้สาธารณะเป็นไปเพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแก้ปัญหาวิกฤติ ตัวอย่างของโครงสร้างพื้นฐานที่มาจากการกู้เงินของรัฐที่ผ่านมา เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สถานีบางซื่อ หรือสนามบินอีกหลายแห่งในต่างจังหวัด ฯลฯ เราจะเห็นว่า หนี้สาธารณะ เป็นการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่งของประเทศที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนนั้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ
ในช่วงที่ 2 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและที่ปรึกษาสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอทางออกปัญหาสุขภาพใจของครอบครัวและสังคมไทยที่กำลังอ่อนล้าจากวิกฤติโควิด-19 โดยกล่าวว่า ขณะนี้เรามีความทุกข์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 2 รูปแบบคือ ความทุกข์ยากทางสังคม จากการที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคมจากมาตรการต่าง ๆ และความทุกข์ยากจากเศรษฐกิจที่วันนี้แทบทุกครอบครัวต้องเผชิญ วิธีคิดที่จะช่วยให้เรามีพลังใจผ่านวิกฤตินี้ไปได้ขอให้ยึดหลัก 3i ตัวแรกคือ I am หมายถึงความเชื่อมั่นในตัวเองว่าฉันจะสามารถยืนหยัดได้ ถ้าไม่มีตัวนี้จะทำให้ท้อถอย ฝ่าฟันต่อไปไม่ได้ ตัวที่สองคือ I have นั่นคือขอให้ตระหนักว่าเรายังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับเรา โดยเฉพาะครอบครัวของเราคือกำลังใจที่ดีที่สุด และตัวสุดท้าย I can คือเชื่อว่าฉันสามารถที่จะเผชิญกับวิกฤติได้ทั้งวิกฤติอารมณ์ ความเครียดที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถจะหาทางออกใหม่ๆ ให้กับสถานการณ์นี้ได้ นอกจากนี้เราควรช่วยกันผลิตและส่งต่อพลังบวกให้กัน อย่าส่งต่อข่าวลวง เพราะจะมีผลต่อสุขภาพจิตของเรา เวลาใครมีความทุกข์ ขอให้เปิดใจรับฟัง ฟังอย่างใส่ใจ คนที่ทุกข์อยู่ ถ้าเขามีคนรับฟังเขาก็จะรู้สึกดีขึ้น จะบรรเทาความคิดทางลบ ความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง ความเครียดสะสมก็จะน้อยลง เรามักจะพูดกันบ่อยๆ ว่าเราจะฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน จริงๆ คำนี้มีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะการจะฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยกันได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมาจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เริ่มต้นจากตัวเรา ขยายไปที่ครอบครัวและสังคม
และในช่วงสุดท้าย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสรุปถึงการสื่อสารระหว่างวัยในสื่อดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และมีความสุขว่า เวลาเราสื่อสาร เรามักจะใช้การพูดเยอะ หรือปัจจุบันคือการพิมพ์พรั่งพรูลงในสื่อโซเชียลมีเดีย แต่หลายครั้งเราลืมที่จะฟังกันและกัน ซึ่งการฟังนี่แหละคือปัจจัยสำคัญที่จะลดความเครียดระหว่างกันได้ การฟังที่ดีไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่คือการฟังแบบเปิดใจ ทุกวันนี้เรามีช่องว่างระหว่างวัยเพราะเราแค่ได้ยิน แต่เราไม่ได้ฟัง ถ้าเราฟังแบบเปิดหูและเปิดใจ ลองมองในมุมของคนตรงหน้าเราบ้าง ยอมรับความแตกต่าง เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะการเหมือนกันอาจจะทำให้เราไม่พัฒนา ตรงนี้ก็จะทำให้เราสบายใจและมีความสุขมากขึ้น
สำหรับงานเสวนาออนไลน์ FAM TALK : สื่อสารสร้างสรรค์กับประเด็นสำคัญที่ครอบครัวควรรู้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ สสส. ทำงานร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสังคมสุขภาวะไปด้วยกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit