มกอช. เดินหน้าเตรียมความพร้อมเกษตรกรแปลงใหญ่ (ประมง) จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสู่มาตฐาน GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค

26 Jan 2021

มกอช. เดินหน้าเตรียมความพร้อมเกษตรกรแปลงใหญ่ (ประมง) จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสู่มาตฐาน GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค

มกอช. เดินหน้าเตรียมความพร้อมเกษตรกรแปลงใหญ่ (ประมง) จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสู่มาตฐาน GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมประมง เพื่อสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกระดับการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน และดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการผลิตการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยในปี 2564 ได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับเกษตรกรต้นแบบเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรอง ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) ระยะที่ 2 ให้กับเกษตรกรต้นแบบที่อยู่ในโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด) กรมประมง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) และเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบสามารถเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานและสามารถ ยื่นขอการรับรองฟาร์มตาม มกษ. 7436-2563 จากกรมประมงได้ โดยในปี 2564 มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ เกษตรกรแปลงใหญ่กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในพื้นที่อำเภอกมลาไสย ซึ่งมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และเกษตรกรแปลงใหญ่ กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่อำเภอยางตลาด ซึ่งมีสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

ทั้งนี้ มกอช. ได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบ ประกอบด้วย 1.การประเมินศักยภาพของเกษตรกรต้นแบบเพื่อจัดทำแผนพัฒนารายแปลงให้กับเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม 2.จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบ เพื่อทำความเข้าใจข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) โดยเพิ่มเติมหัวข้อการฝึกอบรมที่เกษตรกรต้องการมีความรู้เพิ่มเติม เช่น การขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และคำแนะนำกฎหมายเกี่ยวกับยาสัตว์และสารเคมีที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ 3.ลงพื้นที่เพื่อฝึกปฏิบัติ ให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรก่อนการตรวจประเมินเบื้องต้น (pre-audit) ฟาร์มเกษตรกร และ 4.ลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้น (pre-audit) ฟาร์มเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีแผนในการติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจประเมินเบื้องต้น (pre-audit) ของฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแปลงเดิมที่ มกอช. ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2563"โครงการเตรียมความพร้อมสำหรับเกษตรกรต้นแบบฯ จะทำให้เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบ มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ.7436-2563) มีความพร้อมและสามารถยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ลดปัญหาการผลิตและการตลาดของสัตว์น้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนต่อไป" เลขาธิการ มกอช. กล่าว