นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials' Meeting : SOM) สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 (13th Berlin Agriculture Ministers' Conference) ผ่านการประชุมออนไลน์ลักษณะเหมือนจริง (Virtual event) ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ เป็นการหารือรายละเอียดของร่างแถลงการณ์ (Communique) เพื่อให้รัฐมนตรีเกษตรรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 มกราคม นี้ โดยได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ภาคเกษตรและระบบอาหาร รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและยังคงเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบาย
3 S คือ Safety, Security และ Sustainability ของภาคเกษตรและระบบอาหารให้มีความยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากลและถูกหลักโภชนาการ การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ ความปลอดภัยชีวภาพ และให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี และการสนับสนุนการทำเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคระบาดพืชและสัตว์ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทำการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการเข้าไปมีส่วนร่วมด้านดินใน Global Soil Partnership (GSP) ภายใต้ FAO และด้านน้ำในเวทีระดับโลก เช่น World Water Forum, Global Water Partnership (GWP) และ UNESCO-IHP เพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการจัดเก็บข้อมูล Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคและโรคระบาดของพืชและสัตว์ อันจะนำไปสู่การวางแผนการผลิตที่แม่นยำ ตอบสนองความมั่นคงอาหารที่ยั่งยืน โดยในส่วนของประเทศไทย ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data: NABC) เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศ และนำข้อมูล Big Data มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ และภัยพิบัติทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดเพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำถึงการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของภาคเกษตรและระบบอาหาร โดยประเทศไทยพร้อมมีส่วนร่วมตามพันธกรณีต่าง ๆ และจะทำงานร่วมกับ FAO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพร้อมสนับสนุนการนำนโยบายด้านระบบอาหารโลกไปผลักดันให้เกิดผลปฏิบัติจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 2 (Zero Hunger), SDG 13 (Climate Change) และ SDG 15 (Life on Land) และเป้าหมายของการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (2021 UN Food Systems Summit) ซึ่งประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้ดำเนินการเตรียมการจัดประชุมระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (National Dialogues Convenor) เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร และนำไปจัดทำนโยบายและกิจกรรมเพื่อรายงานต่อที่ประชุมระดับผู้นำฯ ในช่วงปลายปีนี้ด้วย