ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City มข. นำ Digital Twin แผนที่ 3 มิติ ความละเอียดสูง หนึ่งในระบบอัจฉริยะ การบริหารงานมหาวิทยาลัย ประยุกต์ใช้ช่วยตำรวจซ้อมรับมือเหตุร้าย เพิ่มความปลอดภัยประชาชน

08 Feb 2021

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มเผชิญกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนครอบคลุมเชื่อมโยงหลายมิติ อาทิ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาความมั่นคงทางทะเล และปัญหาโรคอุบัติใหม่ หน่วยงานความมั่นคงในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักและรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง จึงได้ทบทวนแผนให้มีความก้าวทันต่อสถานการณ์ กอปรกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติแผน โครงการสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น (Smart City) ในปี 2559 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้อัจฉริยะตามมาตรฐานสากล 6 สาขา ได้แก่ การเดินทางและขนส่ง (Smart Mobility) พลเมือง (Smart People) ระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ (Smart Economy) สิ่งแวดล้อม(Smart Environment) การบริหารจัดการภาครัฐ (Smart Governance) และ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง (Smart Living)

ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City มข. นำ Digital Twin แผนที่ 3 มิติ ความละเอียดสูง หนึ่งในระบบอัจฉริยะ การบริหารงานมหาวิทยาลัย ประยุกต์ใช้ช่วยตำรวจซ้อมรับมือเหตุร้าย เพิ่มความปลอดภัยประชาชน

โจทย์ของหน่วยงานความมั่นคง และ การนำพาเมืองไปสู่ความอัจฉริยะ ประชาชนมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกิดแนวคิดการนำเทคโนโลยี Digital Twin แผนที่ 3 มิติ มาใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ฝึกฝน เพิ่มศักยภาพในการป้องกันให้มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และ รับมือสถาการณ์ที่ไม่คาดคิดให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด

รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า "Digital Twin เป็นแผนที่ 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูงเหมือนกับคู่แฝดเสมือนจริงของพื้นที่จริง ตำรวจจะเป็นผู้ให้โจทย์มา ต่อจากนั้นนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นผู้สร้างสถานการณ์จำลองลงไปในพื้นที่ในโมเดล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปใช้ในการวางแผนระงับเหตุ ซึ่งตอนนี้ได้ทดลองนำไปใช้แล้วในหลายเหตุการณ์ เช่น ในกรณีที่มีการอารักขาผู้นำ รวมไปถึงบุคคลสำคัญระดับประเทศ จะใช้แผนที่ 3 มิติ ในการวางแผนกระจายกำลังและกำหนดจุดรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงสามารถใช้ในการวางแผนสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ โดยจะมีการสร้าง simulation เหมือนเกมลงไปในโมเดลเพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปวางแผนการปฏิบัติงานในแต่ละเหตุการณ์" รศ.ดร.รวี กล่าว

โดยหลักการการทำงานของเทคโนโลยี Digital Twin คือการทำสำเนาหรือแบบจำลองของสิ่งต่าง ๆ ทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งในรูปแบบของภาพ และข้อมูล มีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริงผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่คอยเก็บข้อมูลสถานะทางกายภาพของวัตถุแบบ Real-time ทำให้แบบจำลองนั้นเป็นเสมือนการย้ายวัตถุไปไว้ในโลกดิจิทัล ซึ่ง Digital Twin นั้นเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีหลายชนิด ได้แก่ เทคโนโลยีผลิตภาพ 3 มิติ หรือ VR และ AR ทำหน้าที่สร้างรูปร่างของวัตถุในโลกดิจิทัล เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ และ Internet of Things (IoT) ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล รวมทั้งการอัพเดตข้อมูลแบบ Real-time เข้ามาใน Digital Twin เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Machine Learning เพื่อทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และ Software Analytics เพื่อดูแลการทำงานของซอฟต์แวร์ในระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสื่อสารเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน เช่น Cloud, Edge Computing, Automation, และ ระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เทคโนโลยีทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ด้วยดี การผสานความอัจฉริยะเหล่านี้นำมาซึ่งความสามารถในการตรวจสอบสถานะของวัตถุอย่างละเอียด กระทั่งสามารถจำลองได้ว่า หากสภาพแวดล้อม หรือสถานะจุดใดจุดหนึ่งภายในตัววัตถุเปลี่ยนไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับวัตถุ กล่าวคือ ผู้ใช้งานสามารถจำลองสถานการณ์และทำนายความเป็นไปได้ในภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น

แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์การบริหารจัดการความเรียบร้อยของเมือง แต่ Digital Twin กลับไม่ได้นำมาใช้งานกับภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างแรก เพราะจุดเริ่มต้นที่แท้จริงในการใช้งานเกิดจากความต้องการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งสร้างฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของแผนที่ 3 มิติ เพื่อที่จะได้ทราบทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างละเอียด

โดย รศ.ดร.รวี ได้เผยว่าจุดเริ่มต้นของการนำ Digital Twin มาใช้ เกิดจากการที่ "มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขานรับนโยบายโครงการสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น นำไปสู่การมีคณะกรรมการ Smart City รวมไปถึงการตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) ขอนแก่น โดยศูนย์นี้มีท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ และ คณาจารย์จากหลากหลายคณะที่ทำงานร่วมกัน มีคณะกรรมการผู้ดูแลโครงการวิจัยต่าง ๆ มากมายเพื่อขับเคลื่อนให้ขอนแก่นเป็นเมืองอัจฉริยะตามวัตถุประสงค์

ซึ่งการนำเทคโนโลยี Digital Twin มาใช้เป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการสร้างฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของแผนที่ 3 มิติ และ ต้องการเปลี่ยนแผนที่ 3 มิติให้กลายเป็นข้อมูล ทำให้เห็นทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งหมด ตั้งแต่ตัวตึก อาคารเรียน ไปจนถึงถนน เสาไฟฟ้า ถังขยะ โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเข้าไปทำงานควบคู่กับหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงสามารถจำลองพื้นที่ในการวางแผนสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น" รศ.ดร.รวี กล่าว

รศ.ดร.รวี กล่าวต่อไปว่า "เราตั้งเป้าหมายไว้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีระบบดูแลทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ และนักศึกษา ร่วมไปถึงผู้ปกครองโดยเฉพาะผู้ปกครอง ควรที่จะได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง เขาสามารถดูได้ผ่านมือถือ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าบุตรหลานที่เข้ามาเรียนจะมีชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัย ความคืบหน้าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสแกนพื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยคาดว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในปีหน้า" นักวิจัยศูนย์ SCOPC กล่าว

การเดินทางของ digital twin จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์การบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย และ ได้ขยายผลในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในระดับเมือง แนวทางที่เกิดขึ้นนับเป็นผลดีอย่างยิ่งที่การใช้เทคโนโลยีไม่ได้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าเพียงแค่องค์กร แต่ยังขยายไปสู่ภาพกว้างอย่างการตอบสนองนโยบายเมือง นอกจากนี้การพัฒนาที่ขยายเป็นวงกว้างยังเป็นไปตาม นิยามเมืองอัจริยะ ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง มีการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองดีขึ้นอย่างยั่งยืนภายใต้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาดทันสมัย