GIT ชวนระวัง "ทองคำเปลว" หลังพบ "ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" ย้ำกินไม่ได้เป็นอันตราย

09 Feb 2021

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT แนะผู้บริโภคที่ชอบรับประทานอาหาร Luxury ประดับทองคำเปลว ต้องตรวจสอบให้ดีหลังพบ "ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" ซึ่งไม่ใช่ทองคำบริสุทธิ์ และบางครั้งปนเปื้อนโลหะหนัก และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

GIT ชวนระวัง "ทองคำเปลว" หลังพบ "ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" ย้ำกินไม่ได้เป็นอันตราย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เปิดเผยว่า ในยุคนี้ไม่มีอะไรเกินความสามารถของมนุษย์ ซึ่งสามารถสร้างสรรค์สิ่งทดแทนขึ้นมาได้ เพื่อลดต้นทุน และสามารถค้าขายได้ในราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีชนิดต่างๆ ทองคำ รวมถึงทองคำเปลว

ทองคำเปลว ที่เป็นของแท้ ผลิตด้วยช่างฝีมือตีจนทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์ 95.00-99.99 % จนเป็นแผ่นบาง ๆ ปัจจุบันทำได้ยาก และมีต้นทุนในการผลิตที่สูง ในทางกลับกันการผลิต "ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" จะไม่ได้มีการใช้ทองคำมาตีให้เป็นแผ่นบาง แต่จะเป็นการใช้สารประกอบจำพวกไฮโดรคาร์บอนและธาตุโลหะหนักอื่น ๆ มาแต่งสี และลักษณะให้มีความคล้ายคลึงกับทองคำเปลวแท้มากที่สุด

ซึ่งการใช้ทองคำเปลววิทยาศาสตร์ หากนำไปใช้เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือ อุตสาหกรรมความงาม อาจทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากว่า ทองคำบริสุทธิ์ (AU) สามารถรับประทานได้ ร่างกายไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และ ขับถ่ายออกมาตามปกติ แต่หากเป็น ทองคำวิทยาเปลววิทยาศาสตร์ อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้ เพราะมีโลหะหนักผสมอยู่ และอาจจะสะสมและเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ได้ ทำให้เกิดโรคพิษโลหะหนักตามมาหากได้รับในปริมาณที่มากและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน

แต่อย่างไรก็ตาม GIT เราไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงด้านอาหาร แต่เนื่องจากทองคำเปลว เป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง สถาบันจึงได้ออกมาเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคฉุกคิดก่อนที่จะบริโภคเข้าไป และหากมีความจำเป็นจะต้องรับประทาน หรือนำไปใช้กับร่างกายโดยตรง สามารถนำทองคำเปลว หรือทองคำนั้น มาตรวจสอบกับสถาบันได้ โดยเรามีเทคนิคในการตรวจสอบที่เรียกว่า XRF และ ICP-OES  ที่จะสามารถหาผลทดสอบได้ว่าทองคำเปลวนั้นประกอบด้วยธาตุใดบ้าง ซึ่งผู้บริโภค หรือผู้ผลิตจะได้มีความมั่นใจ และสามารถนำไปประกอบเป็นสารสำคัญในสินค้าของตนเองได้ต่อไป นอกจากนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสถาบันได้ เพียงดาวน์โหลด Application CARAT แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร 02 634 4999 ต่อ 421 - 425