รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564

23 Dec 2020

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 "เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน" โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วม ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า ภาคเกษตรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยประชากรประมาณร้อยละ 40 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตร และจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติที่รุนแรง การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามทางการค้าระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและภาคเกษตรของไทย โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท อาทิ การส่งเสริมสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น การทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาสินค้าเกษตรจากฐานชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสู่เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร

รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564

สำหรับการดำเนินการในปี 2564 ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน รวมทั้งนโยบายด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้หลักตลาดนำการผลิต ซึ่งจะให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาในทุกด้านจะยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1) บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ บริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณค่า 2) บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ จากที่ดินได้ตรงตามศักยภาพของที่ดิน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากที่สุด 3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อบ่มเพาะเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer 4) ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด 5) ส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up เป็นหน่วยธุรกิจให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Providers: ASP) เพื่อยกระดับสู่การให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร 6) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองต่อโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการค้าสินค้าเกษตรออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 7) พัฒนาช่องทางการตลาด โดยเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ 8) เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ และร่วมกันยกระดับคุณภาพผลผลิต และแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด 9) การประกันภัยพืชผล ให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผลที่เอาประกันภัย 10) ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร 11) สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก 12) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน 13) การวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย บนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และ 14) ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ในการเชื่อมโยงการทำการเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

"การที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้บรรลุตามเป้าหมายนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทูตเกษตร ทูตพาณิชย์ และองค์การระหว่างประเทศในการหาตลาด และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เกษตรกรไทยได้ปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร การสัมมนาในวันนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ทุกภาคส่วนได้ทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรและปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมทั้งแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกันนี้ จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์หรือปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในระยะต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว

HTML::image(