สสส. ชี้ดัชนีความสุขคนทำงานยุคโควิด "กายและใจ" ไปพร้อมกัน

24 Dec 2020

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในวงงานรัฐสภา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม "สุขภาพดีตามวิถีของบุคลากรในวงงานรัฐสภา" ซึ่งโครงการฯ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการส่งเสริมสุขภาวะในวงงานรัฐสภา โดยสร้างความตระหนักการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการปรับทัศนคติด้านสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมสุขภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ทั้งนี้ บุคลากรในวงงานรัฐสภา มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,421 ราย (สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร 2,212 ราย, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1,259 ราย) โดยกิจกรรมฯ ครั้งนี้ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ ด้วย ณ อาคารรัฐสภา

สสส. ชี้ดัชนีความสุขคนทำงานยุคโควิด "กายและใจ" ไปพร้อมกัน

สสส. เน้นสร้างสุขภาวะที่ดี คลุม 4 มิติ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พันธกิจหลักของ สสส. ในฐานะองค์กรมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนสุขภาวะที่ดี ทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และ สังคม โดยเฉพาะภายในสถานที่ทำงาน ด้วยพบว่าคนส่วนใหญ่ต่างใช้เวลามากกว่า 50% ของแต่ละวันในสถานที่ทำงาน โดย สสส. มีแผนดำเนินงานเพื่อสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดีในทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรประเภทต่าง ๆ ในระบบแรงงาน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมเพื่อการพัฒนาประเทศ โดย สสส. ได้สนับสนุนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย สำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภาให้ดำเนินการโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในวงงานรัฐสภา มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กิจกรรมครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดี รวมถึงป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ หรือ ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งจากรายงานผลตรวจสุขภาพประจำปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า บุคลากรในวงงานรัฐสภา มีมากกว่า 1 ใน 3 เป็นโรคประจำตัวจากกลุ่มโรคดังกล่าว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเร่งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และด้านโภชนาการ โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ลดความหวาน มัน เค็ม ใน แต่ละมื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาสื่อด้านสุขภาพ เพื่อใช้เป็นคู่มือเพื่อนำไปปฏิบัติด้านสุขภาวะ และสอดล้องกับสถานการณ์อันเป็นปัญหาในองค์กร และการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ทาง สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย และ กระทรวงสาธารณสุข ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก บุคลากรในวงงานรัฐสภา จำนวนกว่า 3,000 ราย และกลุ่มเป้าหมายรอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สื่อมวลชน อีกจำนวนหนึ่ง

ดึงผลสำรวจแก้ไขโรคและอาการเรื้อรังในบุคคลากร

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กิจกรรมฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในระยะที่ 3 โดยจัดทำโครงการพัฒนาองค์กร สุขภาวะต้นแบบ: การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากร ในวงงานรัฐสภา ภายใต้สำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา มีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรมีสุขภาพที่ดี สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดผลผลิตที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย โดยได้ผลลัพธ์ คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรสุขภาวะ

ทั้งนี้ สำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา ร่วมกับ สสส. จัดทำโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ โดยอิงจากผลการสำรวจข้อมูลสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภา พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ มีสาเหตุหลัก จากพฤติกรรมสุขภาพขาดการใส่ใจดูแลควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีภาวะน้ำหนักเกิน และเป็นโรคอ้วน สาเหตุสำคัญทำให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งหากได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยงให้กลับไปสู่กลุ่มปกติได้

ส่งต่อสร้างสุขภาวะองค์กรยั่งยืน

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 หลังจากบรรลุวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตามลำดับ ต่อการสร้างสุขภาวะองค์กรในบุคลากรในวงงานรัฐสภา โดยกิจกรรมการสร้างสุขภาวะองค์กร ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคมฯ ได้นำหลักการใช้ความสุขพื้นฐานแปดประการ (Happy 8) เป็นเครื่องมือร่วมในการบริหารจัดการบุคคลากรฯ โดยเน้น การสร้างสุขทางกาย (Happy Body) และ การสร้างสุขทางใจ (Happy Heart) พร้อมสร้าง "นักสร้างสุของค์กร" (นสอ.) เพื่อเป็นต้นแบบบุคคลากรสร้างสุขให้กับผู้ร่วมงาน ปัจจุบันมี นสอ. จำนวนที่ 253 คน ที่พร้อมสานต่อการทำงานในระยะที่ 3

สำหรับเป้าหมายกิจกรรมฯ ต่อจากนี้ไป นอกเหนือจากการนำข้อมูลอ้างอิงจากผลสำรวจทางสุขภาพของบุคลากร ไม่ว่าเรื่องความเครียดในการทำงานสะสม พฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสมทำให้นำไปสู่ภาวะการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs รวมถึงการดูแลป้องกันโรคแพร่ระบาดในปัจจุบันที่เร่งด่วน อย่างโควิด -19 แล้ว ยังจะมีการนำนักสร้างสุของค์กรที่ผ่านการอบรมไปแล้วกลับมาเสริมความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะสามารถขยายผลต่อไปในเชิงนโยบายขององค์กร ไปพร้อมกันกับการทำงานผ่านกิจกรรมต้นแบบการสร้างสุขภาวะองค์กร โดยจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างสุขทั้งกายและใจต่อไปยังคนรอบข้างต่อไปได้อย่างยั่งยืนและเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของ สสส. ในการรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจ

HTML::image(